กรณีตัวอย่าง

วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  (Case Method)

            ปัจจุบันการนำเสนอกรณีตัวอย่างให้ผู้เรียนได้เกิดความคิด ได้ตอบคำถาม และอภิปรายร่วมกัน จัดเป็นวิธีการสอนได้ที่ผู้สอนนำมาใช้มากพอสมควร เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้เต็มที่ เพราะคำตอบที่ได้จะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ผู้เรียนจึงมีโอกาสใช้ความคิดในการวิเคราะห์ แก้ปัญหา ในเรื่องต่างๆ ที่ผู้สอนได้กำหนด ได้มากยิ่งขึ้น
            เพื่อให้ความเข้าใจการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างให้มากขึ้น ในบทนี้กล่าวถึงรายละเอียดของวิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย ความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ ขั้นตอนที่สำคัญในการสอน เทคนิคข้อเสนอแนะของการสอน และข้อดี ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง พร้อมด้วยสรุปท้ายบท  กิจกรรมและคำถามของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างด้วย

ความหมาย
ทิศนา  แขมมณี (2550 : 362) อธิบายว่า วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนศึกษาเรื่องที่สมมติขึ้นจากความเป็นจริงและตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วนำคำตอบและเหตุผลที่มาของคำตอบนั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตาวัตถุประสงค์
 
วัตถุประสงค์ของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง
            วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนฝึกฝนการเผชิญและแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาจริง เป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ความคิดของผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น  (ทิศนา  แขมมณี, 2550 : 362)

องค์ประกอบของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  
ทิศนา  แขมมณี (2550 : 362) กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง มีดังนี้
1. มีผู้สอนและผู้เรียน
2. มีกรณีเรื่องที่คล้ายกับเหตุการณ์จริง
3. มีประเด็นคำถามให้คิดพิจารณาหาคำตอบ
4. มีคำตอบที่หลากหลาย คำตอบไม่มีถูกผิดอย่างชัดเจนหรือแน่นอน
5. มีการอภิปรายเกี่ยวกับสภาพการณ์ ปัญหา มุมมอง และวิธีการแก้ปัญหาของผู้เรียน และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
6. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
ขั้นตอนของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  
ทิศนา  แขมมณี (2550 : 362-363) กล่าวถึงขั้นตอนของการโดยใช้กรณีตัวอย่าง มีดังนี้
1. ผู้สอน/ ผู้เรียนนำเสนอกรณีตัวอย่าง
2. ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่าง
3. ผู้เรียนอภิปรายประเด็นคำถามเพื่อหาคำตอบ
4. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายคำตอบ
5. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของผู้เรียน และสรุป
การเรียนรู้ที่ได้รับ
6. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างให้มีประสิทธิภาพ
(ทิศนา  แขมมณี, 2550: 363)
               1. การเตรียมการ ก่อนการสอน ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมกรณีตัวอย่างให้พร้อม กรณีตัวอย่างที่เหมาะสมจะต้องมีสาระซึ่งจะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นจริง กรณีที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่มีสถานการณ์ปัญหาขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความคิดของผู้เรียน หากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาขัดแย้ง ผู้สอนอาจใช้วิธีการตั้งประเด็นคำถามที่ท้าทายให้ผู้เรียนคิดก็ได้ ผู้สอนอาจนำเรื่องจริงมาเขียนเป็นกรณีตัวอย่างหรืออาจใช้เรื่องจากหนังสือพิมพ์ ข่าว และเหตุการณ์รวมทั้งจากสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วีดีทัศน์ เป็นต้น เมื่อได้กรณีที่ต้องการแล้วผู้สอนจะต้องเตรียมประเด็นคำถามสำหรับการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ต้องการ
               2. การนำเสนอกรณีตัวอย่าง ผู้สอนอาจเป็นผู้นำเสนอกรณีตัวอย่าง หรืออาจใช้เรื่องจริงจากผู้เรียนเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้ (แต่ครูต้องมีความชำนาญในการวิเคราะห์กรณีตัวอย่างนั้น และตั้งประเด็นคำถามได้เร็ว) วิธีการนำเสนอทำได้หลายวิธี เช่น การพิมพ์เป็นข้อมูลมาให้ผู้เรียนอ่าน การเล่ากรณีตัวอย่างให้ฟัง หรือนำเสนอโดยใช้สื่อ เช่น สไลด์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรืออาจให้ผู้เรียนแสดงเป็นละครหรือบทบาทสมมติก็ได้
               3. การศึกษากรณีตัวอย่างและการอภิปราย  ผู้สอนควรแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยและให้เวลาอย่างเพียงพอในการศึกษากรณีตัวอย่าง และคิดหาคำตอบ ไม่ควรให้ผู้เรียนตอนประเด็นคำถามทันที ผู้เรียนแต่ละคนควรมีคำตอบของตนเตรียมไว้ก่อน แล้วจึงร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่ม และนำเสนอผลการอภิปรายระหว่างกลุ่ม เป็นการแลกเปลี่ยนกันผู้สอนพึงตระหนักว่าการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างนี้ มิได้มุ่งที่ความถูกต้องของคำตอบ คำถามสำหรับการอภิปรายนี้ ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจนแน่นอน แต่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นคำตอบและเหตุผลที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดที่กว้างขึ้น มองปัญหาในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น อันจะช่วยให้การตัดสินใจมีความรอบคอบขึ้น ด้วยเหตุนี้การอภิปรายจึงควรมุ่งความสนใจไปที่เหตุผลหรือที่มาที่ผู้เรียนใช้ในการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ

ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง 
 ทิศนา  แขมมณี (2550: 364) กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างไว้ ดังนี้
            ข้อดี 
1) เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมี
วิจารณญาณ และการคิดแก้ปัญหา ช่วยให้ผู้เรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น
2) เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงและได้ฝึกแก้ปัญหาโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้เกิดความพร้อมที่จะแก้ปัญหา เมื่อเผชิญปัญหานั้นในสถานการณ์จริง
3) เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนสูง ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน และส่งเสริมการเรียนรู้จากกันและกัน
4) เป็นวิธีสอนที่ให้ผลดีมากสำหรับกลุ่มผู้เรียนที่มีความรู้และประสบการณ์หลาก
หลายสาขา
               ข้อจำกัด
               1) หากกลุ่มผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ไม่แตกต่างกัน การเรียนรู้อาจไม่กว้างเท่าที่ควร เพราะผู้เรียนมักมีมุมมองคล้ายกัน
2) หากกลุ่มผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ไม่แตกต่างกัน การเรียนรู้อาจไม่
กว้างเท่าที่ควร เพราะผู้เรียนมักมีมุมมองคล้ายกัน
3) แม้ปัญหาและสถานการณ์จะใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ กับผู้เรียน ความคิดในการแก้ปัญหาจึงมักเป็นไปตามเหตุผลที่ถูกที่ควร ซึ่งอาจไม่ตรงกับการปฏิบัติจริงได้







สรุปท้ายบท

          การสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง หมายถึง การที่ผู้สอนให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงที่ผู้สอนได้กำหนดให้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยผู้สอนกำหนดประเด็นคำถามให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด นำเหตุผลและคำตอบที่ได้มาอภิปรายร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ มุ่งให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ ได้มุมมองที่กว้างขึ้น 
            ในการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างจึงประกอบไปด้วย ผู้สอน ผู้เรียน กรณีตัวอย่าง  ประเด็นคำถามที่ครูกำหนด การสรุปอภิปราย และผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  ขั้นตอนการสอนที่สำคัญ คือ ผู้สอนนำเสนอกรณีตัวอย่าง โดยให้ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่างเพื่อที่จะได้คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และตอบคำถามที่ผู้สอนกำหนดให้ จากนั้น ผู้เรียนอภิปรายสรุปเป็นคำตอบร่วมกัน และสุดท้ายผู้สอนจะต้องสรุปการอภิปรายผลจากบทเรียน และทำการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไป
            การสอนวิธีนี้ผู้สอนจะต้องเตรียมกรณีตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด  โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 4-5 คน และในการสอนจะต้องให้เวลากับผู้เรียนเพื่อศึกษากรณีตัวอย่างให้เหมาะสม ให้เวลามากพอสมควร ดังนั้นการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง จึงมีข้อดี คือ ผู้เรียนได้เกิดความคิดที่กว้างขวางมากขึ้น คิดแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนด้วยกัน  แต่มีข้อจำกัดตรงที่หากกลุ่มผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ไม่แตกต่างกัน การเรียนรู้อาจไม่กว้างเท่าที่ควร เพราะผู้เรียนมักมีมุมมองคล้ายกัน และแม้ปัญหาและสถานการณ์จะใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ กับผู้เรียน ความคิดในการแก้ปัญหาจึงมักเป็นไปตามเหตุผลที่ถูกที่ควร ซึ่งอาจไม่ตรงกับการปฏิบัติจริงได้

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

1. จงอธิบายความหมายของ  การสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง”  ตามความคิดเห็นของท่าน
2. ลักษณะสำคัญของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างมีอะไรบ้าง
3. จงอธิบายจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง
4. การสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง จงอธิบาย
5. ขั้นตอนของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างมีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง  จงอธิบาย
6. ท่านจะมีเทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง
7. จงอธิบายข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างมาพอสังเขป
8. ให้ท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่างว่าเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเหตุใด

No comments:

Post a Comment