นิรนัย

วิธีสอนโดยใช้การนิรนัย  (Deductive Method)

            เมื่อกล่าวถึงหลักการและทฤษฎีการสอน  ผู้สอนบางคนอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อนต่อการเรียน  ผู้สอนส่วนใหญ่จึงเน้นหนักด้านการเรียนการสอนโดยอธิบายรายละเอียดให้ผู้เรียนได้ทราบก่อน  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  การสอนโดยให้ผู้เรียนได้รู้ถึงหลักการและทฤษฎีก่อนนั้น  จะทำให้ผู้เรียนได้มีความรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนอธิบายโดยละเอียด  เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้จากทฤษฎีเหล่านั้นนำมาแตกย่อยเป็นตัวอย่างได้โดยง่าย  เพียงแค่นึกถึงตัวหลักการหรือทฤษฎีก็จะเข้าใจรายละเอียดได้โดยที่ไม่ต้องจำจากตัวอย่าง  ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความคิดที่เกิดจากหลักการได้อย่างถูกต้อง
              สำหรับการเรียนการสอนแบบนี้เรียกว่า  วิธีสอนโดยใช้การนิรนัย  หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วิธีสอนแบบอนุมัย  ซึ่งใช้ตั้งแต่สมัยเพลโต  (Palto)  โดยเป็นการสอนที่เริ่มจากกฎเกณฑ์หรือหลักการต่างๆ  แล้วหาเหตุผลมาพิสูจน์ยืนยัน  วิธีสอนแบบนี้จะช่วยฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ  จนกว่าจะสามารถพิสูจน์กฎเกณฑ์หรือหลักการที่ได้เรียนรู้เสียก่อน (ไสว ฟักขาว, 2544 : 96)
               ในบทนี้กล่าวถึง  ความหมาย­ของวิธีสอนโดยใช้การนิรนัย  จุดมุ่งหมาย  องค์ประกอบ ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การนิรนัย   ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้วิธีสอนแบบนิรนัย  รวมไปถึงการสรุปท้ายบทเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทเรียนได้ยิ่งขึ้น  จะได้นำไปเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมและคำถามท้ายบทด้วย

ความหมาย
            สำหรับความหมายของการสอนโดยใช้การนิรนัย นักการศึกษาได้กล่าวไว้หลายทัศนะ ดังนี้
            ทิศนา  แขมมณี (2550 : 337) อธิบายว่า วิธีการสอนโดยการใช้นิรนัย คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดโดยการช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี  หลักการ  กฎ  หรือข้อสรุปในเรื่องที่เรียน  แล้วจึงใช้ตัวอย่างการใช้ทฤษฎี/หลักการ/กฎ  หรือข้อสรุปนั้นหลาย ๆ ตัวอย่าง  หรืออาจให้ผู้เรียนฝึกนำทฤษฎี/หลักการ/กฎ หรือข้อสรุปนั้นไปในสถานการณ์ใหม่ ๆ  ที่หลากหลาย  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในทฤษฎี/หลักการ/กฎ  หรือข้อสรุปนั้น ๆ  อย่างลึกซึ้งขึ้น  หรือกล่าวสั้น ๆ ว่าเป็นการสอนจากหลักการไปสู่ตัวอย่างย่อย ๆ
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 280) กล่าวว่า  การสอนแบบอนุมานหรืออนุมัยหรืออนิรมัย  หมายถึง  การสอนจากกฎหรือหลักเกณฑ์ไปหาตัวอย่าง  หรือการสอนจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย  กล่าวคือ  ให้ผู้เรียนรู้กฎเกณฑ์  หลักการ  สูตร  นิยาม  ทฤษฎี  ข้อเท็จจริง  หรือข้อสรุปต่าง ๆ  เสียก่อนแล้วจึงให้ตัวอย่างประกอบหรือพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริง  ตัวอย่างเช่น  สอนคำใหม่  คำว่า  ไก่  ให้อ่านเป็นคำแล้วมาแยกเป็นพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์  หรือใช้สูตรพื้นที่สามเหลี่ยมแล้วมาแทนค่าสูตรหรือให้ความหมายของคำว่า  สสาร  แล้วจึงยกตัวอย่างของสสาร  เป็นต้น  เป็นวิธีสอนที่ตรงข้ามกับวิธีสอนแบบอุปมาน  
              จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 73) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า วิธีสอนแบบนิรนัยหรือแบบอนุมาน  เป็นวิธีสอนจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย หรือจากกฎเกณฑ์หรือทฤษฎี  ไปหาตัวอย่าง  คือ  เวลาสอนครูเริ่มต้นด้วยทฤษฎี  หรือกฎเกณฑ์ก่อนแล้วจึงยกตัวอย่าง  หรือให้รายละเอียด  เพื่อสนับสนุนกฎเกณฑ์นั้น  หรือเพื่อให้ทฤษฎีนั้น ๆ เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น 
            สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 65)  กล่าวว่า วิธีสอนแบบนี้  เป็นการสอนที่เริ่มจากทฤษฎีหรือหลักการต่าง ๆ แล้วให้นักเรียนหาหลักฐานเหตุผลมาพิสูจน์ยืนยัน  วิธีสอนแบบนี้หัดฝึกให้นักเรียนเป็นคนมีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ  จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นจริงเสียก่อน 
              อินทิรา  บุณยาทร (2542 :105)  ได้กล่าวไว้ว่า วิธีสอนแบบนิรนัย  คือ  การสอนที่เริ่มจากให้ผู้เรียนรู้จักกฎ  หรือหลักการต่าง ๆ ความจริงโดยทั่ว ๆ ไปก่อน  แล้วจึงสอนรายละเอียดทีหลัง  อาจทำโดย  ให้ผู้เรียนทดลองคิด  ค้นหา  ศึกษาข้อมูลรายละเอียดมาพิสูจน์ยืนยันด้วยเหตุผล  พร้อมทั้งคำแนะแนวทางจากผู้สอนประกอบสรุปเป็นความเข้าใจ 
              จากความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา  สรุปได้ว่า  การสอนแบบนิรนัย  หมายถึง  วิธีสอนที่ผู้สอนได้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงหลักการหรือทฤษฎีโดยทั่วไปก่อนที่ผู้สอนจะให้รายละเอียดหรือยกตัวอย่างให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงหลักการนั้นๆ  นั่นคือเป็นวิธีสอนจากส่วนรวมไปสู่ส่วนย่อยนั่นเอง 

จุดมุ่งหมายของวิธีสอนแบบนิรนัย
              สำหรับจุดมุ่งหมายของวิธีสอนแบบนิรนัย ได้มีนักการศึกษาเสนอแนะความคิดเห็น ไว้ดังนี้
              ทิศนา  แขมมณี (2550 : 337) ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของวิธีการสอนโดยใช้การนิรนัยว่า  เป็นวิธีที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หลักการและสามารถนำหลักดังกล่าวไปใช้ได้  อยากแยกเป็นข้อๆ ดังนี้
              1. เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการเป็นคนมีเหตุผล
              2. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักใช้กฎ  สูตร  และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ  ในการแก้ปัญหา
              3. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างรอบคอบ  ไม่ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ  ไปโดยไม่มีเหตุผลหรือหลักเกณฑ์เพียงพอกับความถูกต้อง 
            เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 281) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในของวิธีสอนโดยใช้นิรนัยไว้ว่า
              1. เพื่อให้ผู้เรียนนำเอากฎ  สูตร  นิยาม  ทฤษฎีไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา
              2. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักยับยั้งในการตัดสินใจ  จนกว่าจะได้พิสูจน์ความจริงต่าง ๆ หรือวิเคราะห์อย่างถ่องแท้แล้ว
              3. เพื่อแก้ข้อบกพร่องของผู้เรียนซึ่งมักจะรีบด่วนสรุปสิ่งต่าง ๆ  อย่างรวดเร็วและง่าย ๆ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ
              ไสว ฟักขาว (2544 : 96) ได้กล่าวเสริมว่า วิธีสอนโดยใช้นิรนัยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ดังนี้ คือ
              1. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักนำกฎ  สูตร  และหลักการต่าง ๆ  ไปอ้างอิงในการแก้ปัญหา  ได้อย่างถูกต้องและมีเหตุผล
              2. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักใช้เหตุผลมาประกอบการพิสูจน์ความรู้ต่าง ๆ  ก่อนจะตัดสินใจเชื่อว่าถูกต้อง
               นอกจากนี้  สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544  : 105)  ได้กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้นิรนัยเพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้กฎ  สูตร  และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ  มาช่วยในการแก้ปัญหา  ไม่ตัดสินใจในการทำงานอย่างง่าย ๆ  จนกว่าจะพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน 
              สรุปได้ว่า การสอนโดยการใช้นิรนัยมีจุดมุ่งหมายหลัก  คือ
1. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล
2. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้จากหลักการและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
3. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำหลักการที่ได้เรียนรู้มาแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
4. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักใช้เหตุผลมาประกอบการพิสูจน์ความรู้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
5. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้แก้ไขข้อบกพร่องอันเกิดจากข้อผิดพลาดได้อย่างทันท่วงที
               ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ผู้เรียนรู้เกิดการเรียนที่ดีมีเหตุผลพร้อมเผชิญกับปัญหาและแก้ไข
ปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของตนเองได้เป็นอย่างดี
             
องค์ประกอบของการสอนแบบนิรนัย 
              ทิศนา  แขมมณี (2550 : 337) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนโดยใช้วิธีสอนแบบนิรนัย ดังนี้
              1. มีผู้สอนผู้เรียน
              2. มีทฤษฎี / หลักการ / กฎ  หรือข้อสรุปต่าง ๆ
              3. มีตัวอย่างสถานการณ์ที่หลากหลาย  ที่สามารถนำทฤษฎี/หลักการ/กฎ หรือข้อสรุปนั้นนำไปใช้ได้
              4. มีการฝึกนำทฤษฎี / หลักการ / กฎ  หรือข้อสรุปไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย
              5. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการนำหลักการไปใช้




ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้การนิรนัย
              ขั้นตอนสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของวิธีสอนโดยใช้การนิรนัย มีดังนี้ (ทิศนา  แขมมณี, 2550 : 337)
            1. ผู้สอนถ่ายทอดความรู้ / ทฤษฎี / หลักการ / กฎ / ข้อสรุปที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้  ด้วยวิธีการต่าง ๆ  ตามความเหมาะสม
              2. ผู้สอนให้ตัวอย่างสถานการณ์หลากหลายที่สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้
              3. ผู้สอนให้ผู้เรียนปฏิบัตินำความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปใช้ในสถานการณ์ใหม่
              4. ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์และอภิปรายผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
              5. ผู้สอนวัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

              สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132-133)  ได้กล่าวถึงลำดับขั้นการสอนแบบนิรนัย  ไว้ว่า การสอนแบบนิรนัย  เป็นการสอนที่มีรายละเอียดตรงข้ามกับวิธีอุปนัย  กล่าวคือวิธีสอนแบบนี้จะเริ่มจากกฎ  หรือหลักการต่าง ๆ แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันหาข้อมูล  หลักฐานและข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ยืนยันกฎ  หรือหลักการนั้น ๆ  ว่าถูกต้องหรือไม่  หรือกล่าวได้ว่าการสอนวิธีนี้เป็น   การสอนโดยเริ่มจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย  ส่วนการสอนโดยวิธีอุปนัยเป็นการสอนจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวมนั่นเอง 
              สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 66) ได้อธิบายขั้นตอนในการสอนแบบนิรนัย มีดังนี้ 
            1. ขั้นอธิบายปัญหา  ระบุสิ่งที่จะสอนในแง่ของปัญหา  เพื่อยั่วยุให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ  (เช่น  เราจะหาพื้นที่ของวงกลมได้อย่างไร)  ปัญหาจะต้องเกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงของชีวิต  และเหมาะสมกับวุฒิภาวะของเด็ก
              2. ขั้นอธิบายข้อสรุป  ได้แก่  การนำเอาข้อสรุปกฎหรือนิยามมากกว่า  1  อย่าง  มาอธิบาย  เพื่อให้นักเรียนได้เลือกใช้ในการแก้ปัญหา
              3. ขั้นตกลงใจ  เป็นขั้นที่นักเรียนจะเลือกข้อสรุป  กฎ หรือนิยาม ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา
              4. ขั้นพิสูจน์  หรืออาจเรียกว่าขั้นตรวจสอบ  เป็นขั้นที่สรุปกฎหรือนิยามว่าเป็นความจริงหรือไม่  โดยการปรึกษาครู  ค้นคว้าจากตำราต่าง ๆ  และจากการทดลองข้อสรุปที่ได้พิสูจน์ว่าเป็นความจริงจึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
              เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540  :  281) ได้เสนอขั้นตอนในการสอนแบบนิรนัยไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
            1. ขั้นเตรียม   เป็นการเตรียมบทเรียน  เตรียมการสอน  นำเข้าสู่บทเรียน  เร้าความสนใจของผู้เรียน  ทบทวนความรู้เดิม  เพื่อให้สัมพันธ์กับความรู้ใหม่  อธิบายความมุ่งหมายให้ผู้เรียนเข้าใจ  อาจจะทำในรูปของปัญหาก็ได้
              2. ขั้นสอน  ผู้สอนนำกฎ สูตร นิยาม  ฯลฯ มาอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจแล้วเขียนข้อสรุปนั้น ๆ ลงบนกระดานชอล์ก  แล้วยกตัวอย่างหรือทำการพิสูจน์ให้เห็นจริง  และให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วย
              3. ขั้นสรุป  ผู้เรียนสรุปได้ว่า  สิ่งที่ผู้สอนอธิบายนั้นเป็นความจริงทุกประการตามที่ผู้สอนได้บอกไว้  ข้อสรุปที่ได้นับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
              4. ขั้นนำไปใช้  ผู้เรียนนำข้อสรุปนั้น ๆ  ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน  หรือใช้ในการทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม  เพื่อช่วยให้เกิดทักษะและเข้าใจดียิ่งขึ้น
              นอกจากนี้  ไสว ฟักขาว (2544 : 97)  ได้กล่าวว่า การสอนแบบอนุมาน สามารถแบ่งขั้นตอนการสอนออกเป็น 4 ขั้นตอน  ดังนี้
              1. ขั้นอธิบายปัญหา  เป็นขั้นที่ครูระบุสิ่งที่จะสอนในรูปของปัญหา  เพื่อยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ  ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
              2. ขั้นอ้างหลักการ  เป็นขั้นที่ครูนำหลักการ  กฎ  หรือทฤษฎีต่าง ๆ  มาอ้างเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
              3. ขั้นอธิบาย  เป็นขั้นที่ครูอธิบายความเป็นมาของหลักการ  กฎ  หรือทฤษฎีต่าง ๆ และขั้นตอนการนำมาใช้ในการแก้ปัญหา
              4. ขั้นตรวจสอบ  เป็นขั้นที่ครูให้ผู้เรียนตรวจสอบว่า  หลักการที่นำมาอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่  โดยอาจให้ผู้เรียนทดลอง  ค้นคว้าจากตำราต่าง ๆ หรือขอคำแนะนำจากครู

               จากที่นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายขั้นตอนของการสอนโดยใช้การนิรนัย  สรุปได้ว่า  การสอนโดยใช้การนิรนัย มีขั้นตอนการสอนดังนี้
1. ขั้นเตรียม หรือขั้นอธิบายปัญหา เป็นขั้นที่ผู้สอนจะต้องนำสู่บทเรียนโดยเร้าความสนใจของผู้เรียน  ซึ่งจะต้องเตรียมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
2. ขั้นสอน   ผู้สอนจะต้องอธิบาย และสรุปกฎเกณฑ์ หลักการ หรือทฤษฎี ให้ผู้เรียนได้
เข้าใจ  พร้อมกับยกตัวอย่างให้ผู้เรียนได้เห็นจริง
3. ขั้นสรุป   เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องสรุปกฎเกณฑ์และทฤษฎี จากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาไว้อย่างถูกต้อง
4. ขั้นนำไปใช้  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้ว่าสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้หรือไม่



            เทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนการสอนโดยใช้การนิรนัย  
              ทิศนา แขมมณี (2550 : 338)  อธิบาย  เทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนการสอนโดยใช้การนิรนัย ไว้ว่า
              1. การเตรียมการ  ผู้สอนจำเป็นต้องทำความเข้าใจในทฤษฎี / หลักการ / กฎ / ข้อความรู้ / ข้อสรุป  ที่ต้องการสอนให้แก่ผู้เรียน  และหาวิธีที่เหมาะสมในการถ่ายทอดหรือนำเสนอเนื้อหาสาระเหล่านั้นแก่ผู้เรียน  นอกจากนั้น  ครูจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างที่ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาสาระเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จ  ตัวอย่างควรเป็นสถานการณ์ที่มีความหลากลหาย  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดและความเข้าใจที่ชัดเจน
              2. การนำเสนอข้อความรู้ / ทฤษฎี / หลักการ / กฎ / ข้อสรุป แก่ผู้เรียน  ผู้สอนจำเป็นต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่จะสอนเป็นอย่างดี  รวมทั้งหาวิธีการที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาสาระเหล่านั้นให้แก่ผู้เรียน  จนกระทั่งผู้เรียนเกิดความเข้าใจ  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีความเข้าใจเพียงพอ  ผู้สอนควรทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนก่อนให้ฝึกใช้ความรู้
              3. การนำเสนอสถานการณ์ใหม่ให้ผู้เรียนฝึกใช้ความรู้  เมื่อเห็นว่าผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความรู้ / ทฤษฎี / หลักการ / กฎ / ข้อสรุป  ที่ให้พอสมควรแล้ว  ผู้สอนควรให้ผู้เรียนฝึกการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ ๆ  ซึ่งจะมีความหลากหลายพอสมควรเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบนิรนัย

              สำหรับข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบนิรนัย นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
          ทิศนา  แขมมณี (2550 : 338) กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบนิรนัย ไว้ดังนี้

            ข้อดี
            1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้อย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
              2. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกฝนการนำทฤษฎี / หลักการไปใช้ในสถานการณ์ใหม่
              3. เป็นวิธีสอนที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถหรือเรียนรู้ได้เร็วสามารถพัฒนา  โดยไม่ต้องรอผู้เรียนรู้ได้ช้ากว่า

            ข้อจำกัด 
            1. เป็นวิธีการที่ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่าง / สถานการณ์ / ปัญหาที่หลากหลายมาให้ผู้เรียนได้ฝึกทำ
              2. เป็นวิธีสอนที่ขึ้นกับความเข้าใจและความสามารถของผู้สอนในการนำทฤษฎี  หลักการ
              3. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ช้า  อาจจะตามไม่ทันเพื่อนและเกิดปัญหาในการเรียนรู้

              เสริมศรี  ลักษณศิริ ( 2540 : 281) กล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีสอนแบบนิรนัย  ไว้ดังนี้
              ข้อดี
            1. เป็นวิธีที่ง่ายกว่าและเสียเวลาน้อยกว่าวิธีสอนแบบอนุมาน
              2. ใช้สอนเนื้อหาวิชาที่ง่าย ๆ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ดี
              3. ผู้สอนไม่ต้องใช้เทคนิคการสอนมาก
              4. เป็นการสอนที่เน้นผู้สอนเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่
              5. หลักเกณฑ์ต่าง ๆ  ที่อธิบายโดยใช้วิธีสอนแบบนี้  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายได้ดี
              ข้อเสีย
            1. ผู้เรียนบางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีสติปัญญาปานกลางและอ่อน  จะเข้าใจได้ยาก
              2. ใช้สอนได้ดีเฉพาะบางเรื่อง  เช่น  การสอนอ่านสำหรับผู้เริ่มเรียนที่สอนให้อ่านเป็นคำก่อนแล้วจึงผสมอักษรทีหลัง  หรือการสอนคำใหม่  เป็นต้น
              3. ไม่ส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาความรู้  และคุณค่าทางอารมณ์

              ในการสอนควรนำวิธีสอนแบบอุปมานและอนุมานมาใช้ร่วมกันจะทำให้การสอนได้ผลดียิ่งขึ้น  เพราะวิธีสอนแบบอนุมานเป็นวิธีสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้เห็นรายละเอียดและคิดค้นด้วยตนเองสรุปเป็นกฎเกณฑ์  ส่วนวิธีสอนแบบอนุมานใช้กฎเกณฑ์ที่วางไว้แล้วไปหารายละเอียด  ดังนั้นควรสอนให้คิดหาเหตุผลจนเข้าใจแล้วจึงสรุปเป็นเกณฑ์หรือสูตร  ต่อจากนั้นก็ตรวจสอบดูกฎเกณฑ์หรือสูตรให้แน่ใจก่อนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ  การรวมการสอนทั้งสองวิธีเข้าด้วยกันจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เกิดความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น  ได้ความรู้จากการค้นคว้าทดลอง และสามารถฝึกหาเหตุผลในกรณีต่าง ๆ ได้
              สำหรับ จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 58)  ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อดีของการสอนแบบนิรนัย  ไว้ว่า วิธีสอนแบบนี้จะฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่าย  จนกว่าจะได้พิสูจน์ให้เห็นจริง   และได้กล่าวถึงข้อจำกัดของการสอนแบบนิรนัยว่า เป็นการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนน้อย  เพราะครูเป็นผู้แสดงเป็นส่วนใหญ่  เช่น  ครูเตรียมทฤษฎีมา  แล้วพิสูจน์ให้นักเรียนได้เห็นจริง  เป็นต้น 
               สุพิน  บุญชูวงศ์  (2544 : 66) ได้กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการสอนแบบนิรนัยไว้ ดังนี้
            ข้อดี
            1. วิธีสอนแบบนี้เหมาะที่จะใช้สอนเนื้อหาวิชาง่าย ๆ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะสามารถอธิบายให้นักเรียนเข้าใจความหมายได้ดี  และเป็นวิธีสอนที่ง่ายกว่าสอนแบบอุปนัย
              2. ฝึกให้เป็นคนมีเหตุมีผล  ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นจริง
             

              ข้อจำกัด
            1. วิธีสอนแบบนิรนัยที่จะใช้สอนได้เฉพาะบางเนื้อหา  ไม่ส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาความรู้และคุณค่าทางอารมณ์
              2. เป็นการสอนที่นักเรียนไม่ได้เกิดความคิดรวบยอดด้วยตนเอง  เพราะครูกำหนดความคิดรวบยอดให้
              ไสว ฟักขาว (2544 : 98)  ได้กล่าวว่าข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนแบบอนุมาน  มีดังนี้
             
            ข้อดี
              1. เป็นวิธีที่เหมาะกับเนื้อหาที่มีกฎเกณฑ์  จะทำให้สามารถอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายและใช้เวลาไม่มาก
              2.  เป็นวิธีที่ช่วยฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล  ลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน
             
            ข้อจำกัด
              1. ใช้สอนได้เฉพาะบางเนื้อหา
              2. ไม่ส่งเสริมการแสวงหาความรู้
              3. ผู้เรียนไม่ได้เป็นผู้สร้างมโนทัศน์ (Concept) ในหลักการที่นำมาอ้างด้วยตนเอง เพราะครูจะเป็นผู้กำหนดให้
              นอกจากนี้ อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 106) ได้ให้ความคิดเห็นว่า การสอนแบบนิรนัยมีข้อดีและข้อจำกัด คือ

              ข้อดี
            1. ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง
              2. วิธีสอนแบบนี้ง่ายในการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ  และสามารถนำไปใช้ได้

              ข้อจำกัด
            1. ผู้เรียนไม่ได้เกิดความคิดรวบยอดด้วยตนเอง  เพราะผู้สอนเป็นผู้บอกให้
              2. เป็นการสอนที่ไม่ให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการคิดมากนัก  เพราะผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดให้
              จากทั้งหมดที่กล่าวมา การสอนโดยใช้การนิรนัยมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด  ซึ่งมีความสำคัญด้วยกันทั้ง  จึงสรุปได้ว่า  ข้อดีของการสอนโดยใช้การนิรนัย มีดังนี้
1. เป็นการสอนที่เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นกฎเกณฑ์  สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้
ง่าย
2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล  เข้าใจหลักการและทฤษฎี  ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
3. เป็นวิธีสอนที่ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้อย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
4. เป็นวิธีสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
5. ผู้สอนไม่ต้องใช้เทคนิคในการสอนมาก

ส่วนข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การนิรนัย มีดังนี้
1. ผู้สอนต้องเตรียมตัวในการเรียนการสอน ค่อนข้างจะยุ่งยาก
2. เป็นวิธีสอนที่ไม่ส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาความรู้  และคุณค่าทางอารมณ์
3. เป็นวิธีสอนที่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักการ ทฤษฎีของผู้เรียนแต่ละคน
4. ผู้เรียนไม่ได้แสดงความคิดรวบยอดเป็นของตนเอง เพราะผู้ผู้สอนบอกให้
5. ไม่ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดมากนัก

สรุปท้ายบท

            การสอนโดยใช้นิรนัย หมายถึง การสอนที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงทฤษฎีและหลักการในเนื้อหาก่อนที่จะให้ได้เรียนรู้ถึงรายละเอียด หรือตัวอย่าง  หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนจากส่วนใหญ่ไปส่วนย่อย  เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจในหลักการ ทฤษฎี มากขึ้น  จึงเป็นการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ทฤษฎีให้ได้ก่อน
              ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญของการสอนโดยการใช้นิรนัยมีก็คือ  เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล  เกิดความรู้จากหลักการและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  อีกทั้งสามารถนำหลักการที่ได้เรียนรู้มาแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง  รู้จักใช้เหตุผลมาประกอบการพิสูจน์ความรู้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้แก้ไขข้อบกพร่องอันเกิดจากข้อผิดพลาดได้อย่างทันท่วงที  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  โดยองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้ของการสอนวิธีนี้คือ  ผู้เรียนและผู้สอน ทฤษฎี หลักการหรือข้อสรุปต่างๆ  จะต้องมีตัวอย่างสถานการณ์ที่หลากหลายที่สามารถนำไปใช้ได้  พร้อมทั้งต้องการฝึกนำหลักการและทฤษฎีไปใช้ในสถานการณ์เหล่านั้นให้ได้   ซึ่งจะต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการนำหลักการนั้นไปใช้ด้วย

              ขั้นตอนการสอนโดยใช้การนิรนัย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ
  
1. ขั้นเตรียม  หรือขั้นอธิบายปัญหา  เป็นขั้นที่ผู้สอนจะต้องเตรียมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ
ชีวิตจริงและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
2. ขั้นสอน   ผู้สอนจะต้องอธิบาย  และสรุปกฎเกณฑ์  หลักการ หรือทฤษฎี ให้ผู้เรียนได้
เข้าใจ  พร้อมกับยกตัวอย่างให้ผู้เรียนได้เห็นจริง
3. ขั้นสรุป  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องสรุปกฎเกณฑ์และทฤษฎี  จากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้
เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาไว้อย่างถูกต้อง
4. ขั้นนำไปใช้  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้ว่า
สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้หรือไม่


การสอนโดยใช้การนิรนัยจึงมีข้อดี  คือ     เป็นการสอนที่เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นกฎเกณฑ์ 
สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ง่าย  ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล  เข้าใจหลักการและทฤษฎี  ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  เป็นการสอนที่ผู้สอนถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้อย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก  เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  และผู้สอนไม่ต้องใช้เทคนิคในการสอนมาก เพราะเป็นการอธิบายให้ผู้เรียนได้รู้หลักการผู้เรียนก็สามารถนำหลักการที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้  แต่การสอนวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น ผู้สอนต้องเตรียมตัวในการเรียนการสอนที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก  เป็นวิธีสอนที่ไม่ส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาความรู้  และคุณค่าทางอารมณ์   ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีของผู้เรียนแต่ละคน  ผู้เรียนจึงไม่ได้แสดงความคิดรวบยอดและกระบวนการคิดที่เป็นของตนเองมากนัก  เป็นต้น

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

1. จงอธิบายความหมายของ วิธีสอนโดยใช้การนิรนัย  ตามความคิดเห็นของท่าน
2. วิธีสอนโดยใช้การนิรนัยมีจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่ออะไรบ้าง
3. องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การนิรนัยจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง
4. หากท่านต้องการใช้วิธีสอนโดยใช้การนิรนัย ท่านจะมีขั้นตอนในการสอนอย่างไร
5. ให้ท่านเสนอเทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนกาสอนโดยใช้การนิรนัย มาพอ
    สังเขป
6. ท่านคิดว่า วิธีสอนโดยใช้การนิรนัย มีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง จงอธิบาย
7. หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ครูให้คัดเลือกวิธีสอน ท่านจะทำการสอนโดยใช้การนิรนัย
    หรือไม่  เพราะเหตุใด
            

1 comment: