แสดงละคร

วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร  (Dramatization Method)

             เมื่อกล่าวถึงการแสดงการละคร หลายคนก็จะนึกถึงการแสดงละครในโทรทัศน์ที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมได้ทุกวัย  ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชรา ซึ่งรายการแต่ละรายการก็ให้ความสนใจกับแต่ละวัย แตกต่างกันไป  ในปัจจุบันการแสดงละครได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน เนื่องจากเป็นการสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับความเป็นจริง เรียนรู้ได้เข้าใจยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นได้ ในการแสดงละครแต่ละครั้งก็ต้องมีทั้งผู้แสดงและผู้ชม เพื่อให้การแสดงละครสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 
               ในบทนี้กล่าวถึง การสอนโดยใช้การแสดงละคร ประกอบไปด้วย ความหมาย จุดมุ่งหมาย องค์ประกอบ ขั้นตอนของการสอน เทคนิคและข้อเสนอแนะในการสอน และข้อดีและข้อจำกัดในการสอนโดยการแสดงละคร พร้อมทั้งการเนื้อหาสรุปท้ายบทและมีกิจกรรมและคำถามท้ายบทด้วย

ความหมาย 
               นักวิชาการศึกษาได้ให้ความหมายของวิธีสอนโดยการแสดงละคร ไว้ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 353) ได้กล่าว่าวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร  คือ  กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิด   การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์  โดยการให้ผู้เรียนแสดงละคร  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามเนื้อหาและบทละครที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง  ทำให้เรื่องราวนั้นมีชีวิตขึ้นมา  และสามารถทำให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมเกิดความเข้าใจและจดจำเรื่องนั้นได้นาน
              บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 267)  อธิบายว่า  การแสดงละครเป็นวิธีการอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งอาจจะใช้เป็นกิจกรรมขั้นสุดยอดหลังจากผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า หรือจบการเรียนการสอนเรื่องนั้น ๆ  ไปแล้ว  ส่วนมากใช้ในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์  วิชาภาษาไทย  เช่น  เรื่องพระนเรศวรมหาราชชนไก่กับพระอุปราชา  พระยาตากสินตีเมืองจันทบุรีหรือศึกถลาง  ในวิชาภาษาไทยผู้เรียนที่จะแสดงเป็นตัวละครนั้น ๆ  จะต้องศึกษาค้นคว้าอย่างมากทีเดียวเกี่ยวกับบทโต้ตอบ  นิสัยใจคอ  การแต่งกาย  ฯลฯ  แต่เป็นการศึกษาค้นคว้าที่นักเรียนทำด้วยความเต็มใจกระตือรือร้นมากกว่าการเรียนการสอนปกติ  ทั้งจะสัมพันธ์กับ  การเรียนวิชาอื่น ๆ  ด้วย  เช่น  ศิลปศึกษา  งานช่าง  งานประดิษฐ์  เพราะจะต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์จัดทำเครื่องแต่งตัวและเครื่องใช้  เครื่องอาวุธประกอบการแสดงละครด้วย
               การแสดงละครต่างกับการแสดงบทบาทสมมติในตอนที่ว่า  การแสดงละครนั้นต้องมี  การวางแผนร่วมกัน  ปรึกษาหารือกันก่อนแล้วแบ่งงานกันไปทำ  และต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร  ส่วนการแสดงบทบาทสมมตินั้นไม่มีการซักซ้อมล่วงหน้าและไม่จำเป็นต้องใช้หรือเตรียมเครื่องแต่งกายอื่น ๆ  มาประกอบก็ได้  ทั้งใช้เวลาไม่มากนัก 
             จึงสรุปได้ว่า การสอนโดยใช้การแสดงละคร เป็นการสอนที่ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ผู้สอนกำหนดไว้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงละครที่เป็นเรื่องราวตามบทเรียนหรือเนื้อหาที่ผู้สอนกำหนด ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร 
             วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร  เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพของเรื่องราวที่ต้องการเรียนรู้ประจักษ์ชัดด้วยตาตนเอง  ทำให้เรื่องราวนั้นมีชีวิตขึ้นมา  ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจน  และจดจำได้นาน  (ทิศนา แขมมณี, 2550 : 353)

ความสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร
            เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 268)  กล่าวถึงการแสดงละครว่ามีความสำคัญต่อการเรียนการสอน ดังนี้
              1. ผู้เรียนได้รับความรู้จากการชม  เพราะได้เห็นได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นจาก      การแสดงด้วยตัวเอง
              2. ช่วยให้เป็นไปตามเนื้อหาของเรื่องที่จะสอนได้
              3. ทำให้การเรียนน่าสนใจและสนุกสนานยิ่งขึ้น
              4. ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
              5. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามบุคลิกภาพและฝึกทักษะทางด้านภาษา
              6. ส่งเสริมการคิดและการแก้ปัญหาทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม
              7. ช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อบทเรียน

องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร 
               ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 353) อธิบายถึงองค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร ประกอบด้วย
            1. มีผู้สอนและผู้เรียน
              2. มีบทละคร  คือ  เรื่องที่มีเนื้อหาและบทพูดกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นจนจบ
              3. มีการแสดงตามบทที่กำหนด  หรือการชมและสังเกตการแสดง
              4. มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเนื้อหาการแสดง การแสดงของผู้รับบทบาทต่าง ๆ
              5. มีการสรุปการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ได้จากการแสดงและชมการแสดง
              6. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน




ขั้นตอนสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร 
             ทิศนา  แขมมณี (2550  : 353-354) ได้เสนอขั้นตอนของการสอนไว้ดังนี้
               1. ผู้สอน / ผู้เรียนเตรียมบทละคร
               2. ผู้เรียน  ศึกษาบทละครและเลือก  (หรือผู้สอนกำหนด)  บทบาทที่จะแสดง
               3. ผู้เรียนศึกษาบทที่จะแสดงและซ้อมการแสดง  ผู้สอนให้คำแนะนำในการชมการแสดงแก่ผู้เรียนที่เป็นผู้ชม
               4. ผู้สอนและผู้เรียนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับการแสดง  เช่น  เครื่องแต่งกาย  ฉาก  เฟอร์นิเจอร์  ฯลฯ
               5. ผู้เรียนแสดงหรือชมละคร 
               6. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงของผู้เล่น  เรื่องราวหรือเนื้อหาการแสดง  และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการแสดงละคร
               7. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ  ในการใช้วิธีสอนโดยการแสดงละครให้มีคุณภาพ
             ทิศนา  แขมมณี (255 : 354-355)  การแสดงละครเพื่อการเรียนรู้มีหลายแบบ ดังนี้
               ก. การแสดงละครเป็นแบบทางการ  หรือการแสดงนาฏการ  (dramatization)  เป็นการแสดงละครที่มีการเตรียมบทละครตั้งแต่ต้นจนจบไว้  และผู้แสดงจะต้องมีการซักซ้อม          การแสดงก่อนการแสดง  จนผู้แสดงสามารถแสดงได้ตามบท  และมีการจัดฉากเวทีให้ดูสมจริง  ตัวอย่างการแสดงนาฏการที่นิยมกันมาก  ได้แก่  การแสดงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หรือชีวประวัติของบุคคลสำคัญ ๆ  เป็นต้น
               ข. การแสดงละครเป็นแบบไม่เป็นทางการ  หรือเรียกสั้น ๆ  ได้ว่า เป็นการแสดง  (acting)  เรื่องราวหรือเหตุการณ์สั้น ๆ  เฉพาะจุดเฉพาะประเด็น  เพื่อช่วยทำให้เรื่องราว / เหตุการณ์ / จุด / ประเด็น  เหล่านั้นมีความกระจ่างชัดขึ้น  การแสดงแบบนี้  ผู้สอนสามารถใช้สอดสอดแทรกใน  การสอนเนื้อหาสาระต่าง ๆ  ได้มาก  เช่น  การแสดงวิธีการจัดโต๊ะอาหาร  การแสดงพิธีแต่งงาน  พิธีทำขวัญ  วิธีผายปอด  วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัย  วิธีการป้องกันตัว  ตลอดจนการแสดงบทบาทหน้าที่ของบุคคลในอาชีพต่าง ๆ  เป็นต้น
               ค. การแสดงละครใบ้  เป็นการแสดงที่ผู้แสดงใช้การแสดงออกท่าทางสื่อความหมายเรื่องราวให้ผู้ชมเข้าใจโดยไม่ใช้ภาษาพูดเลย  แต่อาจมีการใช้การบรรยายประกอบท่าทางได้  เพื่อช่วยให้ผู้ชมมีความเข้าใจมากขึ้น  เช่น  การแสดงละครใบ้สื่อความหมายเกี่ยวกับปรัชญาในการดำรงชีวิต  ความคับข้องใจ  การแก้ปัญหาต่าง ๆ  เป็นต้น
               ง. การแสดงละครเลียนแบบ  เป็นการแสดงที่ผู้แสดงพยายามแสดงลักษณะท่าทางเลียนแบบบุคคล  สัตว์  หรือสิ่งของต่าง ๆ  เช่น  การแสดงละครเลียนแบบดารา  นักร้อง  นักพูด     ที่มีชื่อเสียง  การแสดงท่าทางและเสียงร้องเลียนแบบสัตว์ต่าง ๆ  เช่น  สุนัข  แมว  สิงโต  นกต่าง ๆ  หรืออาจแสดงเลียนแบบกลไกทำงานของสิ่งต่าง ๆ  เช่น  หุ่นยนต์  คอมพิวเตอร์  รถไฟ  รถเมล์  เครื่องบิน  เป็นต้น
               จ. การแสดงละครล้อเลียน  เป็นการแสดงละครที่มีเนื้อหาสาระเสียดสีบุคคล  สังคม  เรื่องราว  หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ  เพื่อเน้นเจตคติ  ค่านิยม  หรือพฤติกรรมใด ๆ  ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน  โดยการแสดงถึงความไม่ชอบด้วยเหตุและผลของสิ่งนั้น  เช่น  การแสดงละครล้อเลียนพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง  การแสดงละครล้อเลียนเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทางสังคม  เป็นต้น 
               ฉ. การแสดงการเชิดละครหุ่น  เป็นการแสดงที่ผู้แสดงใช้หุ่นหรือวัสดุอื่น ๆ  เป็นตัวแทนในการแสดงออก  ผู้แสดงจะไม่ปรากฏกายหรือแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  ให้เห็น  แต่จะเชิดตัวหุ่นให้แสดงตามที่ตนปรารถนา  ซึ่งก็คือ  การเชิดหุ่นให้แสดงบทบาทและเรื่องราวที่ได้เตรียมไว้  หุ่นที่ใช้ในการแสดงมีมากมายหลายประเภท  เช่น  หุ่นกระบอก  หุ่นนิ้วมือ  หุ่นสวมมือ หุ่นเสียบไม้หุ่นหนังตะลุง  หุ่นดิน  เป็นต้น  หุ่นดังกล่าวอาจเป็นหุ่นรูปคน  หุ่นรูปสัตว์  หรือหุ่นรูปสิ่งของต่าง ๆ  หุ่นเหล่านี้เป็นตัวแทนในการแสดงออกท่าทางของผู้แสดง  แต่ผู้แสดง  (ผู้เชิดหุ่น)  ยังเป็นผู้แสดงออกทางบทพูดอยู่หรือบางกรณีที่ผู้เชิดหุ่นยังไม่ชำนาญ  อาจมีผู้แสดงหลายคน  เช่น  คนหนึ่งเป็นผู้เชิดหุ่น  อีกคนหนึ่งเป็นผู้พากย์  ผู้แสดงบทพูดอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้  แล้วแต่ความสามารถของผู้แสดง
               การแสดงละครไม่ว่าจะเป็นแบบใด  หากจะให้มีประสิทธิภาพ  คือ  ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์  ผู้สอนควรมีการเตรียมการและดำเนินการอย่างเหมาะสม  ดังนี้ 
(ทิศนา แขมมณี, 255 : 355-356)
               1. การเตรียมบทละคร  ผู้สอนและผู้เขียนควรมีการอภิปรายกันถึงวัตถุประสงค์ของการที่จะใช้ละครเป็นวิธีการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดผู้เรียนควรมีบทบาทใน     การเลือกเรื่องราวที่จะแสดง  ผู้สอนอาจเตรียมบทละครให้ผู้เรียนแสดง  โดยต้องเตรียมเนื้อหา    การแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ  และต้องเตรียมบทละคร  หรือบทพูดของตัวละครต่าง ๆ  หรืออาจให้ผู้เรียนช่วยกันเขียน  ซึ่งในทั้งสองกรณี  ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อให้ได้เนื้อหา / เรื่องราว  ที่ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด  และอาจจำเป็นต้องแสวงหาบุคคลผู้มีประสบการณ์  หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นมาให้คำปรึกษา  เช่น  การแสดงละครทางประวัติศาสตร์  การแสดงละครทางวรรณคดี  เป็นต้น  การแสดงละครที่ใช้เป็นวิธีสอนนี้  จะแตกต่างจากการแสดงละครที่เป็นศิลปะการแสดง  การใช้ละครในการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องจัดทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สมบูรณ์เหมือนความเป็นจริง  แต่ต้องพิถีพิถันในจุดที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  จุดนั้นจะต้องเด่นชัด  การแสดงในจุดนั้นต้องให้เห็นสาระที่ต้องการชัดเจน  องค์ประกอบอื่น ๆ  ที่เป็นส่วนเสริม  ไม่จำเป็นต้องจัดทำให้สมบูรณ์  แต่ควรจะตรงตามความเป็นจริง  ผิดกับละครที่เป็นศิลปะการแสดงซึ่งจะต้องจัดทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์ตามความเป็นจริง
               2. การศึกษาบทละคร  และเลือกบทบาทที่จะแสดง  ผู้สอนและผู้เรียนควรช่วยกันเลือกว่าใครควรจะแสดงบทอะไร  โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและความสามารถของผู้เรียนกับบทที่จะแสดง  ควรจะเลือกผู้ที่มีบุคลิกลักษณะตรงกับเรื่อง  และมีความสามารถที่จะตีบทแตก  คือ  เล่นได้ดี  เล่นได้ตรงกับเนื้อหาของเรื่องมากที่สุด  เนื่องจากการแสดงละครเน้นที่การให้ผู้เรียนเห็นภาพหรือเรื่องราวที่ตรงกับเรื่องราวและความเป็นจริงมากที่สุด  ดังนั้น  ผู้แสดงควรมีความเต็มใจที่จะแสดง  เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด 
               3. การศึกษาบท  ซ้อมการแสดงเตรียมผู้ชม  และเตรียมวัสดุอุปกรณ์  เมื่อได้ตัวแสดงแล้ว  ผู้แสดงแต่ละคนต้องศึกษาเรื่องราว  และบทของตนเป็นพิเศษ  ต้องพยายามจำบทของตนให้คล่อง  เพื่อการแสดงจะได้ไม่ติดขัด  และจะต้องมีการฝึกซ้อมการแสดงร่วมกัน  ในบางกรณี หลังการฝึกซ้อมอาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัวแสดงหากพบว่า  ผู้ที่เลือกไว้ไม่สามารถแสดงได้ดี  โดยปกติ  การสอนด้วยวิธีนี้  ผู้เรียนจะไม่ได้แสดงทั้งหมด  ผู้ที่ไม่แสดงจะเป็นผู้ชมการแสดง  และผู้ช่วยจัดการแสดง  เช่น  ทำหน้าที่กำกับการแสดง  บอกบท  ช่วยจัดฉาก  แต่งตัวผู้แสดงช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการแสดง  เป็นต้น  ดังนั้น  ผู้สอนจึงควรจัดแบ่งงานตามความสนใจและความสามารถของผู้เรียน  และให้คำแนะนำในการชมละครว่า  ควรสังเกตและให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องอะไรบ้าง
               4. การแสดงละครและชมละคร  เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว  จึงเริ่มการแสดงในขณะแสดงผู้สอนและผู้ชมไม่ควรขัดการแสดงกลางคัน  และควรให้กำลังใจผู้แสดงโดยการตั้งใจชมการแสดง  ปรบมือให้กำลังใจ  ผู้ชมควรตั้งใจสังเกตการแสดงในจุดสำคัญที่ครูให้คำแนะนำเป็นพิเศษ  และอาจจดบันทึกสิ่งที่สังเกตไว้เพื่อกันลืม  ผู้แสดงก็ควรแสดงให้สมบทบาทมากที่สุด
               5. การอภิปรายเพื่อสรุปการเรียนรู้  เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการแสดงละคร  มุ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่แสดง  ผู้สอนใช้การแสดงเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้เรื่องราวนั้น ๆ  โดยได้เห็นเป็นภาพและการกระทำจริง  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ  และจดจำเรื่องนั้นได้อย่างดีและจดจำได้นาน  ดังนั้นละครที่แสดงออกมาจึงควรสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงนั้นให้เห็นชัด  การอภิปรายเพื่อการเรียนรู้  จึงต้องมุ่งไปที่เรื่องราวที่แสดงออกมาและการแสดงของผู้แสดงว่า  สามารถแสดงได้สมจริงเพียงใด

จุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร 
              มีนักวิชาการกล่าวจุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละครไว้ ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 357) กล่าวถึง จุดเด่นของการสอนใช้การแสดงละคร ดังนี้
             1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นสิ่งที่เรียนมีชีวิตขึ้นมา  ทำให้การเรียนรู้มีความเป็นจริง  และมีความหมายสำหรับผู้เรียน
               2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สูง
               3. เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะต่าง ๆ  จำนวนมาก  เช่น  ทักษะการพูด  การเขียน  การแสดงออก  การจัดการ การแสวงหาข้อมูลความรู้  และการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  เป็นต้น
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 268-269)  กล่าวว่า จุดเด่นของการจัดการแสดง  คือ
             1. คุณค่าทางประสบการณ์
                    1.1 จูงใจให้ทำคุณงามความดี
                    1.2 ทำให้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ  และสามารถแก้ไขด้วยตนเองได้
               2. คุณค่าทางด้านการแสดงออก
                    2.1 ปรับปรุงวิธีการพูดในที่สาธารณะ  การใช้ภาษาและการออกเสียง
                    2.2 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตนเอง
               3. คุณค่าทางความสามารถ
                    3.1 เสริมความทรงจำ
                    3.2 เปิดโอกาสให้ค้นพบและใช้ความคิด 
               4. คุณค่าในทางก่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของศิลปะ  คือ 
                    4.1 ทำให้เห็นคุณค่าของวรรณคดี  ประวัติศาสตร์  ศาสนา  และประเทศชาติมากยิ่งขึ้น
                    4.2 ทำให้เห็นคุณค่าของการละคร  ซึ่งเป็นสิ่งที่รวมศิลปะแขนงต่าง ๆ  เช่น          การดนตรี  การฟ้อนรำ  และจิตรกรรม  ฯลฯ
               5.  คุณค่าทางด้านการศึกษา
                    5.1  เสริมความเข้าใจในการศึกษาวิชาสาขาอื่น ๆ  ด้วย
                    5.2  แสดงให้เห็นขบวนการของการเรียนรู้
                    5.3  เป็นการเรียนโดยการปฏิบัติร่วมกัน

               สรุปได้ว่าจุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละครได้ ดังนี้
               1. ช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นสิ่งที่เรียนมีชีวิตขึ้นมา  ทำให้เกิดความเข้าใจได้เห็นคุณค่าของศิลปะด้านต่างๆ
               2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีส่วนร่วม
               3. ฝึกให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะต่างๆ เช่น การพูด การเขียน การแสดงออก และการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
               4. ทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออก
            



ข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร 
               นักวิชาการกล่าวถึงข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละครไว้ ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 357) กล่าวว่า ข้อจำกัดของการสอนใช้การแสดงละคร มีดังนี้
            1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามาก  ต้องมีการจัดเตรียมบทละคร  และการแสดงที่ยุ่งยาก
              2. เป็นวิธีสอนที่ต้องใช้วัสดุ  อุปกรณ์  เครื่องแต่งกาย  ประกอบการแสดง  ซึ่งอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
              3. เป็นวิธีสอนที่ต้องอาศัยการแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้ในการเขียนบท  หากผู้สอนไม่มีข้อมูลเพียงพอ  หรือไม่สามารถแสวงหาข้อมูลที่ต้องการได้  จะทำให้เรื่องราวหรือการแสดงไม่สมบูรณ์    
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 269) กล่าวว่า การสอนโดยใช้การจัดการแสดงมีข้อจำกัด คือ จะต้องใช้ทุนมากในการสร้างอุปกรณ์การแสดงและสิ่งต่างๆ ที่นำมาประกอบในการสอน  และต้องใช้เวลาทำการสอนมากเป็นพิเศษด้วย  ทำให้เสียเวลาเรียนเพราะต้องมีการฝึกซ้อม
             ภาควิชาหลักสูตรและการสอน  คณะวิชาครุศาสตร์  วิทยาลัยครูพระนคร (2534 : 146 148) อ้างใน เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 269) ได้กล่าวถึง วิธีการสอนแบบการแสดงละครว่า ถ้าผู้สอนไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้อาจจะทำให้การสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร  และจะกลับเป็นทางลบเสียด้วย  แต่ถ้าผู้สอนเข้าใจการสอนก็จะได้ผลอย่างคุ้มค่า  เพราะเป็นการสอนแบบใหม่ที่ได้ผลตามความต้องการ 
              สรุปได้ว่าข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การแสดงละครหรือการจัดการแสดงนั้นคือ ต้องใช้เวลามากในการจัดเตรียมบทละครและการฝึกซ้อม และต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย อีกทั้งหากผู้สอนไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ จะทำให้เรื่องราวและการแสดงไม่สมบูรณ์ ทำให้การสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร












สรุปท้ายบท

             การสอนโดยใช้การแสดงละคร หมายถึง การสอนที่ผู้สอนให้ผู้เรียนแสดงละครตามเนื้อหาหรือบทเรียนที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ให้ผู้เรียนได้ฟัง มองเห็นได้ด้วยตนเองอย่างชัดเจนและสามารถจดจำได้นาน การสอนโดยใช้การแสดงละครเป็นวิธีการสอนที่ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น ด้านภาษา การแสดงออก ฝึกความจำ เป็นต้น
               องค์ประกอบที่สำคัญของการสอนโดยใช้การแสดงละคร จึงต้องประกอบไปด้วย ผู้สอน ผู้เรียน บทละคร ผู้แสดงละคร การแสดงบทบาทของผู้แสดง ผู้ชม การสรุปบทเรียนจากการแสดงละคร และผลการเรียนรู้ของผู้เรียน การแสดงละครมีหลายประเภท อย่างเช่น การแสดงละครแบบเป็นทางการ การแสดงละครแบบไม่เป็นทางการ  การแสดงละครใบ้ การแสดงละครเลียนแบบ การแสดงละครล้อเลียน และการเชิดหุ่นละคร เป็นต้น ดังนั้น ในการสอนแบบนี้จึงมีความหลากหลาย สามารถนำไปใช้ให้เหมาะสมกับบทเรียนที่กำหนดไว้ได้  ผู้สอนจึงมีบทบาทในการสอนที่สำคัญ เนื่องจากผู้สอนจะต้องเตรียมบทละครที่ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ เตรียมผู้แสดงให้เหมาะสม และต้องกำหนดเวลาในการแสดงในแต่ละบทเรียนด้วย การสอนแบบการแสดงละครจึงมีขั้นดังนี้ คือ
               1. ขั้นเตรียม ผู้สอนจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ เตรียมบทละคร เตรียมผู้แสดงละคร ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์การเรียนรู้
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เข้าใจการแสดงบทบาท และชี้แจงบทบาทของผู้แสดงละครแต่ละคน
­­               3. ขั้นแสดงละคร  ผู้เรียนแสดงละคร ผู้ชมชมการแสดงละคร ตามบทเรียนที่ผู้สอนกำหนดไว้
               4. ขั้นสรุปและอภิปรายผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปบทเรียนจากละครที่แสดงไป พร้อมให้ผู้เรียนอภิปรายผลการเรียนรู้
               การสอนวิธีนี้จึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ  แต่ทั้งนี้
ผู้สอนจะต้องมีเทคนิคและประสบการณ์ในการสอนแบบแสดงละครมากพอสมควร การสอนจึงจะบรรลุผล  การแสดงละครจึงมีข้อดีที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสการเรียนรู้แบบของจริง สนุกสนานเพลิดเพลิน เข้าใจบทเรียนและจดจำได้นาน และยังเป็นการฝึกทักษะการพูด การแสดงออก และฝึกความจำ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ คือ จะต้องใช้เวลาในการสอนมาก มีอุปกรณ์การสอนหลายอย่าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และหากว่าผู้สอนไม่เข้าใจในการสอน ไม่มีข้อมูล ไม่เตรียมบทละครเป็นอย่างดีก็จะทำให้การเรียนการสอนไม่สัมฤทธิ์ผลได้เช่นกัน

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

1. จงอธิบายความหมายของ  วิธีสอนโดยใช้การแสดงละครตามความคิดเห็นของ
    ท่าน
2. ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร มีอะไรบ้าง
3. จงอธิบายจุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร ตามที่ท่านเข้าใจ
4. วิธีสอนโดยใช้การแสดงละครจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง
5. ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละครมีขั้นตอนอะไรบ้าง  จงอธิบาย
6. ท่านจะมีเทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร ให้มี
    ประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง
7. จงอธิบายข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การแสดงละคร มาพอสังเขป
8. หากท่านจะเลือกวิธีการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ท่านจะเลือกวิธีการ
    สอนโดยใช้การแสดงละครหรือไม่ เพราะเหตุใด


No comments:

Post a Comment