บรรยาย

วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย (Lecture Method)
            
                  แม้ว่าการสอนโดยใช้บรรยายจะไม่ได้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  แต่ก็นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้เรียนมากเช่นกัน เพราะเป็นการสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจในการเรียน  โดยผู้สอนจะต้องมีการบอก  เล่า  อธิบายเนื้อหาในการเรียนการสอนอย่างละเอียด และผู้เรียนจะต้องจดจำและเก็บรายละเอียดทั้งหมดให้ได้  จึงเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการฟัง การคิด วางแผน เพื่อบันทึกและจดจำเนื้อหาในบทเรียนให้ได้มากที่สุด  
               ในบทนี้กล่าวถึง ความหมาย  ลักษณะสำคัญ  จุดมุ่งหมาย องค์ประกอบ ขั้นตอนการสอน เทคนิค และข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การบรรยาย พร้อมด้วยการสรุปใจความสำคัญทั้งหมดและกิจกรรมและคำถามท้ายบทอีกด้วย

ความหมาย
วิธีการสอนโดยการบรรยายนับว่าเป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนได้ใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งก็นับว่าเป็นวิธีการสอนที่ดีมีประสิทธิภาพ   ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  ของคำว่า บรรยาย หมายถึง ชี้แจงหรืออธิบายเรื่องให้ฟัง  สำหรับความหมายของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ได้มีนักวิชาการให้ความหมายไว้คล้ายคลึงกัน  ดังนี้
 ทิศนา แขมมณี (2550 : 327) กล่าวว่า วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระ แล้วบรรยายคือ พูด บอก เล่า อธิบาย เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
วไลพร คุโณทัย (2530 : 19) อธิบายว่า  การสอนแบบบรรยาย หมายถึง การพูด การเล่าหรือการบรรยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้ฟัง โดยที่ผู้สอนได้เตรียมศึกษาความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับบทเรียนที่จะสอนจากตำราและแหล่งวิชาอื่น ๆ  มาเป็นอย่างดี เป็นการให้เนื้อหาหรือประสบการณ์ทางอ้อมแก่ผู้เรียน เพื่อให้ได้แนวคิดในด้านต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะการเรียนรู้ที่ได้จากการฟังเป็นส่วนใหญ่  อาจารย์ผู้สอนมีวัตถุประสงค์จะให้ผู้เรียนได้รับฟัง รับรู้ เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ขึ้น
อินทิรา บุณยาทร (2542 : 85) กล่าวว่า การบรรยาย คือ วิธีสอนที่ผู้สอนพูด บอกเล่า หรืออธิบายเนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้เรียนฟัง โดยผู้สอนเป็นฝ่ายเตรียมการศึกษาค้นคว้าเนื้อเรื่องมาแล้วเป็นอย่างดี ผู้เรียนเป็นฝ่ายมารับผลการศึกษานั้นโดยการฟัง คิดตาม วิเคราะห์ จดจำเนื้อหาสาระ จดบันทึก เป็นลักษณะการสื่อความหมายทางเดียว คือจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน วิธีสอนแบบนี้จะยึดบทบาทของผู้สอนเป็นหลักสำคัญ
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 138) กล่าวว่า วิธีสอนแบบบรรยาย หมายถึง วิธีสอนที่ผู้สอนพูด บอกเล่า อธิบาย เนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน โดยที่ผู้สอนเป็นฝ่ายเตรียมการศึกษาค้นคว้าเนื้อเรื่องมาแล้วเป็นอย่างดี ผู้เรียนเป็นฝ่ายมารับผลการศึกษาค้นคว้านั้น โดยทั่วไปมักจะเป็นการสื่อความหมายทางเดียว คือ จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนโดยผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนน้อย เพียงแต่ฟังจดบันทึก หรือซักถามบางครั้ง วิธีสอนแบบนี้จะยึดบทบาทของผู้สอนเป็นหลักสำคัญ
สุพิน บุญชูวงค์ (2544 : 45) อธิบายถึงการสอนโดยการบรรยาย ว่าเป็นวิธีสอนที่ครูพูด บอกเล่า หรืออธิบายเนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้นักเรียนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเวลาสั้นยาวเพียงใด โดยที่ครูเป็นฝ่ายเตรียมการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ มาแล้ว นักเรียนเป็นฝ่ายมารับผลการศึกษาค้นคว้านั้น โดยทั่วไปมักจะเป็นการสื่อความหมายทางเดียว คือ จากครูไปสู่นักเรียน โดยนักเรียนจะมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนน้อย
จำเริญ ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 187) อธิบายว่า วิธีสอนแบบบรรยาย หรือวิธีสอนแบบปาฐกถา หมายถึง วิธีสอนที่ครูเป็นผู้เตรียมศึกษาหาความรู้จากบทเรียนเอกสาร ตำรา เพื่อนำมาพูด หรือบรรยายให้นักเรียนฟังซึ่งอาจจะใช้อุปกรณ์ เช่น อาจจะเป็นรูปภาพแผนภูมิ แผนที่มาประกอบการบรรยายด้วยก็เพื่อที่จะช่วยให้การบรรยายได้ผลดียิ่งขึ้น
                  สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 56) กล่าวว่า การสอนแบบบรรยาย  เป็นการสอนที่ผู้สอนเป็นฝ่ายบอก เล่า อธิบาย หรือถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนในรูปของคำพูด  โดยผู้สอนเป็นฝ่ายเตรียมเนื้อหา
               จากความหมายที่นักวิชาการได้อธิบายมา สรุปได้ว่า การสอนแบบบรรยาย หมายถึง วิธีการสอนที่ผู้สอนเป็นฝ่ายบอกเล่า อธิบาย หรือถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนในรูปของคำพูด โดยผู้สอนจะเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้มาเพื่ออธิบายให้ผู้เรียนฟังโดยเฉพาะ  ผู้เรียนจึงเป็นฝ่ายที่จะได้รับข้อมูลจากเนื้อหาในบทเรียนเพียงอย่างเดียว โดยผู้เรียนจะต้องใช้การฟัง การวิเคราะห์ การจดจำเนื้อหาสาระ หรือจดบันทึกจากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้ ทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเป็นเพียงผู้รับ วิธีการสอนนี้จึงเน้นผู้สอนเป็นสำคัญ

ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย

               วิธีสอนโดยใช้การบรรยายมีลักษณะสำคัญคือ  ผู้สอนพูด  อธิบายให้ผู้เรียนฟัง  ซึ่งนักวิชาการได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีสอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจ  ดังนี้
               สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 56) กล่าวถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของการสอนแบบบรรยาย  ไว้ดังนี้  
               1. เป็นการสอนที่เป็นการสื่อความหมายทางเดียว กล่าวคือ ผู้สอนเป็นฝ่ายให้ความรู้แก่ผู้เรียนโดยมีผู้เรียนเป็นฝ่ายรับคือ ฟัง และอาจจดบันทึกสาระสำคัญของเนื้อหาที่ครูบอกหรืออธิบายนั้น ตามไปด้วย
               2. เป็นการสอนที่ให้ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน ผู้สอนจะมีพฤติกรรมในระหว่างการเรียนการสอนมากกว่าผู้เรียน
              บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 50-51) อธิบายถึงการสอนแบบบรรยายว่าเป็นวิธีสอนที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้
               1. ผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนในรูปของการบอก  เล่า  หรืออธิบาย
               2. ผู้เรียนเป็นฝ่ายฟังอาจจดบันทึกสาระสำคัญ  ถ้าเป็นการสอนแบบบรรยายล้วนใน
ระหว่างการบรรยายผู้เรียนจะไม่มีโอกาสถามคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์
               3. มุ่งถ่ายทอดความรู้ (Didactic or Instructional) และ/หรือมุ่งให้เร้าใจ (Inspirational)
               วไลพร คุโณทัย (2530 : 19) กล่าวว่า การบรรยายของผู้สอนเป็นลักษณะของการให้ความรู้ความจำ ซึ่งถ้าผู้เรียนมีความสนใจในสิ่งที่ผู้สอนสอนให้ การสอนและการเรียนก็จะตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ถ้าผู้เรียนขาดความสนใจ การสอนในลักษณะนี้ก็จะไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เพราะผู้เรียนไม่เกิดการรับรู้ที่จะนำไปปฏิบัติให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
                  สรุปได้ว่า  ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ได้แก่ การที่ผู้สอนถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนโดยการ พูด อธิบาย บอก เล่า ให้ผู้เรียนได้ฟัง  และอาจจดบันทึกสาระสำคัญไว้สำหรับการทบทวนความรู้
               อย่างไรก็ตาม  ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า  การบรรยายเพียงอย่างเดียว  ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนตื่นตัวหรือกระตือรือร้นในการเรียนรู้ได้  ดังนั้นวิธีสอนโดยใช้การบรรยายต้องมีวิธีการสอนแบบอื่นๆ เข้าไปผสมผสานด้วย  หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีสื่อประกอบ  ซึ่งอาจเป็นการนำเสนอโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์  มีวีดีทัศน์ ภาพนิ่ง สไลด์  สื่อของจริงประกอบ  ก็จะทำให้การบรรยายน่าสนใจขึ้นอย่างมาก  นอกจากนี้การมีอารมณ์ขันของผู้สอน และการถามคำถามจะช่วยให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียน  แล้วได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในการเรียนรู้ของนักเรียน  รายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาจะได้ศึกษารายละเอียดในบทนี้

จุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย

               วิธีสอนใดๆ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของบทเรียนตามที่กำหนดไว้  นักวิชาการได้อธิบายเพิ่มเติมถึงจุดมุ่งหมายเฉพาะของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย  ดังนี้
               ทิศนา แขมมณี (2550 : 327) อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้การบรรยายว่า เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้เรียนรู้เนื้อหาสาระหรือข้อความรู้จำนวนมากพร้อม ๆ กันได้ในเวลาที่จำกัด
               เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 228) กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการใช้วิธีการสอนแบบบรรยายจะเหมาะสมเมื่อผู้สอนมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้
               1. ต้องการนำเสนอเนื้อหาหลักในสิ่งที่จะสอน
               2. ต้องการสรุปเนื้อหาเป็นประเด็นในสิ่งที่จะสอน
               3. ต้องการให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาอย่างเท่าเทียมกันในสิ่งที่จะสอน

               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 138) กล่าวถึงความมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การบรรยายไว้ดังนี้
               1. เพื่อให้ความรู้หรือประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน เป็นความรู้ที่ค้นคว้าหาได้ยาก หรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
               2. เพื่อช่วยนำทางในการอ่านหนังสือของผู้เรียน  และช่วยสรุปประเด็นสำคัญในกรณีที่ผู้สอนมอบหมายให้ไปอ่านมาล่วงหน้าแล้ว
               3. เพื่อมุ่งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเวลาอันจำกัด

               จากจุดมุ่งหมายทั้งหมดที่นักวิชาการได้กล่าวมา สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้การบรรยายมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ
               1. มุ่งช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้เรียนรู้ในเวลาที่จำกัด
               2. เพื่อให้ความรู้หรือประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน เป็นความรู้ที่ค้นคว้าหาได้ยาก หรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง
               3. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ไปในทิศทางเดียวกันและได้เนื้อหาอย่างเท่าเทียมกัน
               4. เพื่อช่วยนำทางในการอ่านหนังสือของผู้เรียน และช่วยสรุปประเด็นสำคัญในกรณีที่ผู้สอนมอบหมายให้ไปอ่านมาล่วงหน้าแล้ว

องค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย
                  ในการสอนโดยการใช้การบรรยายมีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ดังที่ ทิศนา แขมมณี (2550 : 327)  ได้กล่าวไว้ดังนี้
               1. มีผู้สอนและผู้เรียน
               2. มีเนื้อหาสาระ หรือข้อความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
               3. มีการบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย) โดยผู้สอน
               4. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย

             องค์ประกอบแรกคือ ผู้สอนและผู้เรียน  หรือมีผู้บรรยายและผู้ฟังการบรรยาย  ผู้สอนมีหน้าที่บรรยายให้ผู้เรียนได้รับความรู้  ซึ่งความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อผู้สอนเตรียมองค์ประกอบที่สองมาเป็นอย่างดี  องค์ประกอบที่สองนี้ก็คือ เนื้อหาสาระ หรือข้อความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เมื่อมีการเตรียมเนื้อหาสาระแล้ว  ก็เป็นวิธีการที่จะถ่ายทอดความรู้นั้น  ซึ่งได้แก่  องค์ประกอบที่สาม คือ การบรรยายโดยผู้สอน  ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายสำคัญมาก นั่นคือ ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย  ซึ่งหากองค์ประกอบที่สี่ไม่เกิดขึ้นการสอนโดยการบรรยายในครั้งนั้นก็สูญเปล่า

 

ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย
             อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าวิธีสอนโดยใช้การบรรยายนั้น มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 องค์ประกอบได้แก่ ผู้สอนและผู้เรียน  เนื้อหาสาระ การบรรยายโดยผู้สอน  และผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย
                  ซึ่งหากผู้สอนไม่ได้เตรียมองค์ประกอบที่หนึ่งถึงสามไว้ องค์ประกอบที่สี่คือ ผลของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนก็จะไม่เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่  การที่จะให้การสอนโดยวิธีการบรรยายเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดก็ต้องมีขั้นตอนในการสอน  ซึ่งนักวิชาการหลายท่านได้แนะนำดังนี้
                  อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 138 -140) เสนอขั้นตอนการสอนแบบบรรยายมี  3 ขั้นตอนดังนี้

               1. ขั้นเตรียมการสอน
               2. ขั้นสอน ประกอบด้วย
                     2.1 ขั้นนำ
                     2.2 ขั้นอธิบาย  เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน
                     2.3 ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการบรรยาย
                  3. ขั้นติดตามผล ประกอบด้วย
                         3.1 วัดผลประเมินผลผู้เรียน
                     3.2 วัดผลประเมินผลผู้สอน
               ทิศนา แขมมณี (2550 : 327)  ได้กล่าวว่าขั้นตอนสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของการสอนแบบบรรยาย ควรมีดังนี้
               1. ผู้สอนเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยาย
               2. ผู้สอนบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย) เนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
               3. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

               สามารถ คงสะอาด (2535 : 20-21) อธิบายขั้นตอนของการสอนโดยการบรรยายไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้
             1. ขั้นเตรียม
             2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
                  3. ขั้นบรรยาย
             4. ขั้นสรุป     
             5. ขั้นวัดผล

               บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 51-53) กล่าวว่า เพื่อให้การสอนแบบบรรยายมีประสิทธิภาพ ควรดำเนินตามขั้นตอน 3 ขั้น คือ
                  1. ขั้นเตรียม 
               2. ขั้นบรรยาย
               3. ขั้นสรุปและประเมินผล
               จากที่นักวิชาการได้กำหนดขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย สรุปขั้นตอนที่สำคัญไว้ดังนี้
               1. ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยาย
               2. ขั้นสอนโดยใช้การบรรยาย
                     2.1 ขั้นนำ
                     2.2 ขั้นอธิบาย
                     2.3 ขั้นสรุป
               3. ขั้นประเมินผลการสอนโดยใช้การบรรยาย

             1. ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยาย

                  ขั้นเตรียมการสอนเป็นขั้นที่สำคัญยิ่ง หากปราศจากการเตรียมการสอนแล้ว  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนก็จะไม่ราบรื่น ไม่เป็นระบบ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้น้อย รายละเอียดของขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยายมีผู้เสนอไว้ ดังนี้

               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 138 -139) เสนอการเตรียมการสอนแบบบรรยายไว้ว่า
               1.     วินิจฉัยผู้เรียน โดยพิจารณาถึงพื้นความรู้ ประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน อาจใช้วิธีพูดคุย ซักถาม สัมภาษณ์ หรือใช้แบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อประโยชน์ในการเตรียมเนื้อหาและวิธีการสอน
               2.   เตรียมเนื้อหา โดยพิจารณาถึงความละเอียด ลึกซึ้ง มากน้อย และลำดับของเนื้อหาให้เหมาะสมกับเวลาและลักษณะของผู้เรียน
               3.   เตรียมคำถาม เพื่อใช้ถามผู้เรียนระหว่างการบรรยาย จะช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวและสนใจได้ดีขึ้น
               4.     เตรียมสื่อการเรียนการสอน โดยเตรียมสื่อให้พร้อมอยู่ในสภาพใช้การได้ดี อาจเป็น สไลด์ แผ่นใส ภาพ ของจำลอง ของจริง ฯลฯ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น
               5.  เตรียมการวัดผลประเมินผล อาจจัดทำเป็นแบบทดสอบหลังการเรียน เป็นแบบฝึกหัด หรือการถามคำถามเพื่อวัดดูว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
                  ทิศนา  แขมมณี (2550 : 327)  กล่าวถึง การเตรียมการบรรยายที่ดีว่า ผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาสาระที่จะบรรยายให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ต่อจากนั้นควรคัดเลือกว่าเนื้อหาสาระใดมีความจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่อผู้เรียนเพียงใด เนื้อหาใดไม่จำเป็นอาจตัดออก ต่อไปควรจัดลำดับเนื้อหาสาระว่า สิ่งใดควรพูดก่อน พูดหลัง และจะเชื่อมโยงกันอย่างไร เนื้อหาสาระแต่ละส่วนมีส่วนใดที่ยังคลุมเครือ  ซึ่งควรหาตัวอย่างประกอบหรือควรใช้สื่อใดช่วย และควรแสวงหาเทคนิคในการนำเสนอสาระแต่ละส่วนให้น่าสนใจ ท้าทายความคิดและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งอาจจะเป็นการใช้คำถามกระตุ้น หรือการเล่าประสบการณ์ที่แปลกใหม่ หรือนำเสนอปัญหาที่ท้าทายความคิดก่อนการบรรยาย รวมทั้งผู้สอนควรจะมีโครงร่าง (outline) สำหรับการบรรยาย และมีเอกสารประกอบการบรรยาย
                  สามารถ คงสะอาด (2535 : 20-21) ได้อธิบายขั้นตอนการเตรียมของการสอนโดยใช้การบรรยายไว้ ดังนี้
               1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสอนให้ชัดเจนว่าเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนการสอนแล้วต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านใดบ้าง เช่น เมื่อเรียนภูมิประเทศของประเทศไทยแล้ว ผู้เรียนสามารถบอกที่ตั้งของประเทศไทยได้ถูกต้อง
               2. เตรียมเนื้อหา โดยผู้สอนต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่องในบทเรียนนั้นให้แจ่มแจ้ง เพื่อจัดประสบการณ์การเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนจากเรื่องที่ง่ายไปหาเรื่องที่ยาก
               3. เตรียมกิจกรรมให้ผู้เรียนทำ เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
               4. เตรียมสื่อการเรียนการสอน เป็นการเตรียมสิ่งที่จะให้ประกอบการเรียนการสอน เอกสารประกอบการบรรยายของจริงหรือของจำลองรูปภาพ เป็นต้น
               5. เตรียมการวัดผล โดยใช้วิธีการหรือเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น การให้ทำแบบฝึกหัด ทำแบบทดสอบ การรายงานเพื่อให้ทราบผลการเรียนการสอน
                  บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 51) ได้อธิบายไว้ว่า ขั้นเตรียมจะต้องวางแผนการและเตรียมการสอนอย่างดี ดังนี้
               1. พิจารณาและกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนการสอนให้แจ่มชัด
               2. ศึกษาผู้เรียนในด้านภูมิหลัง ความรู้ ความสามารถ ความต้องการและความสนใจ นำข้อสนเทศเหล่านี้มาพิจารณาวางแผนการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิผลมากที่สุด
               3. ศึกษา ค้นคว้าในเรื่องนั้น ๆ  ให้กว้างขวางจากตำรา วารสาร แหล่งสนเทศที่เชื่อถือได้ อื่น ๆ รวมทั้งพิจารณาประสบการณ์ของตนเอง
               4. พิจารณาถึงการทบทวนหรือเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนเรื่องนั้น
5. กำหนดเค้าโครง จัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด
6. เตรียมภาษาที่จะใช้ในการบรรยาย ซึ่งจะต้องมีเหตุผล ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย
7.พิจารณาสิ่งที่จะช่วยให้การบรรยายมีรสชาติ เช่น เกร็ดความรู้เกี่ยวข้องการอุปมาอุปไมย สถิติที่สำคัญ ผลการวิจัยหรือการค้นคว้าใหม่ ๆ ตัวอย่างคำถามต่าง ๆ ฯลฯ
8. พิจารณาและตระเตรียมการใช้สื่อต่าง ๆ ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจและเพิ่มความเข้าใจ เช่น รูปภาพ ของจริง หุ่นจำลอง ภาพยนตร์ สไลด์ แผ่นโปร่งใส ฯลฯ
               9. ในการวางแผนจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านเวลาเป็นสำคัญ
               10. การทดลองหรือซักซ้อมสอนจะให้ประโยชน์ในการปรับปรุงการเตรียมการสอนให้ดียิ่งขึ้นก่อนทำการสอนจริง
11. เตรียมวิธีการประเมินผลว่าจะใช้วิธีใดบ้าง เช่น การสังเกต การใช้คำถาม การใช้แบบทดสอบ ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อมไว้ล่วงหน้า
               12. ก่อนเวลาบรรยายควรเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ตรวจสอบการใช้สื่อต่าง ๆ  ว่าพร้อมที่จะใช้ได้ตามความต้องการ
               จากคำแนะนำของนักวิชาการเกี่ยวกับการเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยาย  ผู้เขียนเห็นว่า ครูควรจัดทำแผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้  โดยคำนึงถึงพื้นความรู้ ความสามารถ  และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  ซึ่งในแผนการสอนนั้นครูก็ต้องเตรียมในส่วนของวัตถุประสงค์การเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ  การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นต้น แต่ที่พิเศษและท้าทายความสามารถของคุณครูก็คือ จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้การบรรยายอย่างไรให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งครูอาจทำได้โดยใช้สื่อ ใช้คำถาม เรื่องเล่า สถิติที่สำคัญ คำกลอน คำอุปมาอุปมัย รวมทั้งใช้อารมณ์ขันหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม และเช่นเดียวกับการสอนในทุกครั้ง ก่อนเวลาสอน ครูควรเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย  และพร้อมสำหรับการใช้งาน และหากเนื้อหาที่จะบรรยายนั้นใหม่สำหรับคุณครู  คุณครูก็ควรซักซ้อมการสอน ซึ่งจะทำให้ครูมีความชำนาญในการสอนโดยใช้การบรรยายมากยิ่งขึ้น

             2. ขั้นบรรยาย

               ขั้นตอนที่สอง คือ ขั้นบรรยายหรืออธิบาย ซึ่งในขั้นตอนนี้ มีนักวิชาการได้กล่าวไว้ คล้ายคลึงกัน ดังนี้
                  อาภรณ์   ใจเที่ยง (2550 : 139) กล่าวว่า ขั้นสอน ซึ่งเป็นขั้นที่สองของวิธีสอนโดยใช้การบรรยายว่า ประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
               1. ขั้นนำ อาจใช้วิธี
                     1) ซักถามพูดคุยกับผู้เรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน
                     2)  ทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
               2. ขั้นอธิบาย  เป็นขั้นสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ผู้สอนควรได้ดำเนินการ ดังนี้
                     1) บอกโครงเรื่อง ขอบข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน
                     2) อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน
                     3) สังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนตลอดเวลาเพื่อการย้ำซ้ำ หรือหยุดทบทวนใหม่
                     4) ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน และทดสอบความ
เข้าใจ
                     5) ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งในบทเรียน
                     6) ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพท่าทาง ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา และอารมณ์ขันที่เหมาะสม
               3. ขั้นสรุป เป็นการปิดท้ายชั่วโมงการบรรยาย อาจใช้วิธี
                     1) สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
                     2) ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์
                     3) ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ
                     4) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามปัญหา
                     5) มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม
                     6) ควรได้บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป

               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 85) ได้อธิบายขั้นตอนที่สองของการสอนโดยการบรรยาย ซึ่งเป็นขั้นบรรยายว่าประกอบด้วยรายละเอียด ดังต่อไปนี้
               1. แสดงความจริงจังมีความเชื่อมั่นในเรื่องที่จะบรรยาย
               2. ควบคุมอารมณ์ ไม่ตื่นเต้น ไม่ประหม่า หรือเครียด แสดงความเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส
               3. พูดด้วยเสียงที่เป็นธรรมชาติ ชัดถ้อยชัดคำ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป
               4. ใช้สายตามองผู้เรียน เพื่อแสดงว่าผู้สอนเห็นความสำคัญของผู้เรียน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์
               5. ควรเริ่มต้นด้วยการโยงประสบการณ์เดิม ใช้เทคนิคนำเข้าสู่บทเรียน เช่น ยกเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ตั้งคำถาม ฯลฯ
               6. การบรรยายควรมีคำถามแทรกระหว่างการบรรยาย
               7. ให้โอกาสผู้เรียนได้ตั้งคำถามถามในเรื่องที่เรียน
               8. ควรมีการสลับด้วยกิจกรรมกลุ่มย่อย เช่น การระดมความคิด การอภิปราย
                  9. เมื่อบรรยายจบผู้เรียนควรได้ทำแบบฝึกหัด ผู้บรรยายคิดทบทวนหาวิธีการปรับปรุงให้การบรรยายครั้งต่อไปดียิ่งขึ้น
                  สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 59) ได้เสนอแนะพฤติกรรมและบุคลิกของครูในการสอนโดยใช้การบรรยาย ดังนี้
               1. พฤติกรรมการสอนของครู ควรเป็นดังนี้
               1) บอกหัวข้อหรือเนื้อเรื่องโดยสังเขป และวัตถุประสงค์ของบทเรียนก่อนทำการบรรยายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามเนื้อหาด้วยความเข้าใจและด้วยความสนใจ
                     2) ผู้สอนควรจดหัวข้อย่อย ๆ ลงบนกระดานดำเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามบทเรียนและจดเนื้อหาสาระสำคัญลงในสมุดจดของตนได้
                     3) ขณะที่ทำการบรรยาย อาจถามคำถามผู้เรียนไปด้วยก็ได้ เพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน รวมทั้งเป็นการดึงความสนใจของผู้เรียนกลับมายังบทเรียนอีกด้วยในกรณีที่ผู้เรียนเริ่มเบื่อหน่ายการเรียนการสอน
                     4) ถ้าผู้เรียนไม่เข้าใจบทเรียน หรือการสื่อความหมายของผู้สอนไม่ดีพอ ต้องคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนถามปัญหา หรือถามข้อข้องใจได้
                     5) ในการบรรยาย อาจมีเนื้อหาสาระหรือประเด็นบางประการที่สำคัญ ผู้สอนควรเน้นให้มากเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาดียิ่งขึ้น
                     6) ถ้าผู้เรียนแสดงความเบื่อหน่าย เช่น การแสดงออกทางสีหน้า หรือการพูดคุยกับเพื่อนในชั้น ผู้สอนต้องคอยสังเกตและพยายามดึงความสนใจของผู้เรียนกลับมาสู่บทเรียนให้ได้ โดยอาจใช้วิธีการถามคำถาม หรือการยกตัวอย่างที่น่าสนใจ หรือเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้วยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของผู้สอนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
                     7) ขณะที่ทำการบรรยาย ผู้สอนควรให้ผู้เรียนมีกิจกรรมการเรียนการสอนไปด้วย เช่น การให้จดเนื้อหาสาระสำคัญของบทเรียน จะทำให้การเรียนในชั่วโมงนั้น ๆ มีความหมายยิ่งขึ้น
               2. สำหรับในด้านบุคลิกภาพนั้น เนื่องจากการเรียนการสอนด้วยวิธีการบรรยาย เป็นการสอนที่ครูเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน เป็นจุดสนใจของห้องเรียน ดังนั้น บุคลิกภาพของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นต้น สีหน้าท่าทางของครูต้องแสดงความเป็นกันเอง เพื่อให้บรรยากาศของห้องเรียนเกิดความหวาดกลัวและไม่อยากเรียนในชั่วโมงนั้น ๆ การแต่งกายก็เช่นกัน ควรแต่งตัวดี สุภาพ และเหมาะกับกาลเทศะด้วย น้ำเสียงควรให้ชัดเจน แทรกอารมณ์ขันในบางครั้งเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของบทเรียน
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 327) ได้ให้ข้อเสนอแนะของขั้นตอนการบรรยายไว้ว่า การบรรยาย เมื่อเริ่มการบรรยาย ผู้บรรยายควรเร้าความสนใจของผู้เรียนและพยายามรักษาความสนใจนั้นให้คงอยู่ตลอดการบรรยายด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น
               1. การใช้ปัญหาเป็นสิ่งเร้า เช่น ใช้ข่าว เหตุการณ์สำคัญและกรณีตัวอย่างต่าง ๆ
               2. การใช้การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นความ
สามารถของตนในเรื่องนั้น
               3.การใช้สื่อประกอบ เช่น ใช้แผ่นใส ภาพ สไลด์ เทปเสียง วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
               4. การใช้การซักถามประกอบกับการบรรยาย
               5. การใช้กิจกรรมประกอบการบรรยาย เช่น การอภิปรายกลุ่มย่อย การสาธิต การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นเกม การทดลองปฏิบัติ เป็นต้น
               6. การยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย
               7. การใช้อารมณ์ขัน
                  8. การเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถาม และแสดงความคิดเห็น
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 64) ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะของไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่เกี่ยวกับการบรรยายตอนหนึ่งว่า ผู้สอนควรจะได้เข้าใจว่าความน่าสนใจหรือความสนุกสนานในการเรียนนั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความสนุกสนานทางอารมณ์ ด้วยการตลกโปกฮาเสมอไป แต่ความสนุกสนานในทางปัญญาก็เป็นสิ่งที่ผู้เรียนมีความต้องการเป็นอย่างมากเช่นกัน อารมณ์ขันนั้นอาจเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ความสนุกกับวิชานั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีได้ ดังนั้นก่อนที่จะสอนวิชาอะไร ผู้สอนควรจะได้สำรวจตัวเองเสียก่อนว่าเราสนใจหรือสนุกกับวิชาที่เราจะสอนเพียงใด ถ้าเราเองยังไม่สนุกและไม่สนใจวิชาที่สอนหรือสอนพอให้เสร็จ ๆ ไปแล้ว ก็ยากที่จะสอนให้ผู้เรียนสนุกสนานได้ แต่ถ้าเรารู้สึกสนุกและสนใจแล้ว โอกาสที่จะสอนให้สนุกและน่าสนใจก็ทำได้ไม่ยากนัก
                  จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่า ขั้นสอนโดยใช้การบรรยายนั้น ครูควรเริ่มต้นด้วยขั้นนำโดยการซักถามพูดคุยกับผู้เรียน  จากนั้นจึงทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
               จากนั้นถึงขั้นอธิบายครูผู้สอนควร 1) บอกโครงเรื่อง ขอบข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน 2) อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน 3) สังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนตลอดเวลาเพื่อการย้ำซ้ำ หรือหยุดทบทวนใหม่ 4) ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน และทดสอบความเข้าใจ 5) ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งในบทเรียน 6) ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพท่าทาง ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา และอารมณ์ขันที่เหมาะสม  และ 7) ผู้สอนควรจดหัวข้อย่อย ๆ ลงบนกระดานดำเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามบทเรียนและจดเนื้อหาสาระสำคัญลงในสมุดจดของตนได้
               ขั้นต่อมา ขั้นสรุป ผู้สอนอาจใช้วิธี 1) สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ 2) ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์ 3) ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ 4) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามปัญหา 5) มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม และ 6) ควรได้บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป
               นอกจากนี้ ผู้สอนควรจะได้เข้าใจว่าความน่าสนใจหรือความสนุกสนานในการเรียนนั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความสนุกสนานทางอารมณ์อย่างเดียว แต่อาจจะสนุกสนานในทางปัญญา กับวิชาที่เรียนก็ได้  ดังนั้นผู้สอนควรจะสำรวจตัวเองว่าเราสนุกกับวิชาที่สอนเพียงใด ถ้าเราเองยังไม่สนุกก็ยากที่จะสอนให้ผู้เรียนสนุกสนานได้
              
               3. ขั้นสรุปและประเมินผล
               ขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการสอนโดยใช้การบรรยายนั้น คือ ขั้นสรุป และประเมินผล ซึ่งได้มีนักวิชาการอธิบายไว้หลายท่าน ดังนี้     
               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 85) ได้อธิบายขั้นสรุปของการสอนโดยวิธีการบรรยาย ว่าประกอบด้วย
               1. สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
               2. ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์
               3. มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม
                  สามารถ คงสะอาด (2535 : 21) อธิบายว่า ขั้นสรุป เป็นขั้นที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปราย และแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นการสรุปเนื้อหาที่สำคัญของบทเรียนที่ได้บรรยายตั้งแต่ต้นจนจบ โดยสรุป เป็นกฎเกณฑ์และข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้เรียนจดบันทึกไว้ทบทวน
              สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 61) การปรับปรุงการสอนแบบบรรยาย การปรับปรุงการเรียนการสอนของครู จะทำให้การสอนแบบบรรยายมีคุณค่ามากขึ้น การปรับปรุงการสอนของครูสามารถกระทำได้หลายวิถีทาง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความใจกว้างของผู้สอนเอง เป็นต้นว่า จัดทำแบบสอบถามให้ผู้เรียนประเมินการสอนในหัวข้อต่าง ๆ เช่น เนื้อหา ลำดับการเสนอเนื้อหา วิธีการเสนอเนื้อหา ระยะเวลาบุคลิกภาพของครู การใช้คำถาม ฯลฯ ซึ่งการประเมินของผู้เรียนดังกล่าว จะทำให้ผู้สอนทราบข้อบกพร่องของตน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงวิธีสอนให้ดีขึ้น
            การให้เพื่อนครูด้วยกันเข้าสังเกตการณ์สอนก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การปรับปรุงการเรียนการสอนได้เช่นกัน การเข้าสังเกตพฤติกรรมการสอนของครูจะทำให้ได้ข้อมูลมาทำการปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างมาก
            นอกจากนั้น อาจใช้เทคโนโลยีการศึกษาเข้าช่วย เช่น การบันทึกเสียงหรือการถ่ายวีดีโอเทปเพื่อนำมาปรับปรุงการสอนของตนได้
              สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 61) กล่าวว่า ขั้นติดตามผล ผู้สอนควรควรมีการติดตามผลว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหามากน้อยเพียงใดหลังจากที่ได้เรียนไปแล้วเพราะการสอนแบบบรรยายผู้เรียนมักเป็นฝ่ายที่รับฟังเท่านั้น ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกิจกรรมหรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบมากนัก จึงเป็นการเดาได้ยากว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากน้อยเพียงใด ดังนั้นการติดตามผลจึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้สอน ในการติดตามผลนั้นกระทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจดูสมุดบันทึกที่ผู้เรียนจดสรุปคำบรรยาย การถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่บรรยายไปแล้ว การให้ผู้เรียนอภิปรายปัญหาที่ผู้สอนหยิบยกขึ้นมาภายหลังการบรรยายสิ้นสุดลงแล้ว เพราะนอกจากจะได้ติดตามผลในเรื่องความรู้ความเข้าใจของเนื้อหาบทเรียนแล้ว ยังเป็นการตรวจสอบปฏิกิริยาหรือเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนนั้น ๆ ด้วย การทดสอบด้วยแบบทดสอบปรนัยสั้น ๆ ก็เป็นวิธีประเมินผลความเข้าใจอีกวิธีหนึ่ง การติดตามผลนั้นจะรวมการมอบหมายงานให้ไปศึกษาต่อหรือค้นคว้าด้วย
            สรุปได้ว่า ขั้นสรุปและประเมินผลของการสอนโดยใช้การบรรยายนั้น เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอน สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ หรือให้ผู้เรียนได้ร่วมกันสรุปก็เป็นวิธีการที่เหมาะสม  เพราะให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด  และเป็นการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไปในตัว  โดยครูมีบทบาทในการแนะนำการสรุป  จากนั้นครูสามารถติดตามการบรรยายโดยการตรวจดูสมุดบันทึก  การถามคำถาม หรือแบบทดสอบปรนัยสั้นๆ เป็นต้น  นอกจากนี้ผู้สอนสามารถติดตามผลของผู้เรียนโดยการมอบหมายงานให้ไปศึกษาค้นคว้าต่อพร้อมนำเสนอการรายงาน การศึกษาค้นคว้าต่อไป
               สำหรับการติดตามผลการสอนของครูก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ  ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้แบบสอบถามผู้เรียนเกี่ยวกับความพึงพอใจในกิจกรรมการเรียนการสอน  หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคนิควิธีการสอนของครู  นอกจากนี้ผู้สอนอาจให้เพื่อนครูเข้าสังเกตการณ์สอนและให้คำติชม หรืออาจใช้การบันทึกวีดีทัศน์แล้วนำมาชมทีหลังก็ได้        

จุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย
             การสอนโดยใช้การบรรยายมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายประการดังที่นักวิชาการเสนอไว้ใกล้เคียงกัน ดังข้างล่างนี้
               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 140) กล่าวว่า  จุดเด่นของการสอนโดยใช้การบรรยาย มีดังนี้
               1. สามารถสอนกับผู้เรียนจำนวนมากได้ เป็นการประหยัดพลังงานและเวลาของผู้สอน
               2. สะดวกในการให้เนื้อหาทางทฤษฎีแก่ผู้เรียน
               3. ผู้สอนสามารถดำเนินคนเดียวได้
               4. โอกาสที่จะปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการให้เหมาะสมกับผู้ฟัง  เวลา และองค์ประกอบอื่น ๆ ได้ดีกว่าวิธีอื่น
               5. สามารถสรุปเนื้อหาจากที่ต่าง ๆ เข้าเป็นกลุ่มก้อนได้ง่าย
               6. ผู้เรียนไม่ต้องทำงานมากและรับรู้เรื่องที่เรียนตรงกันและพร้อมกัน
               7. ให้ความรู้แก่ผู้เรียนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้เนื้อหามาก กว้างขวาง และเที่ยงตรง
               เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 230) กล่าวว่า การสอนโดยใช้การบรรยายมีข้อดี คือ
               1. สามารถใช้วิธีสอนบรรยายในการสอนให้เกิดความสามารถด้านพุทธิพิสัยได้
               2. การสอนแบบบรรยายไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์มาก
               3. การสอนแบบบรรยายสามารถปรับปรุงใช้สอนได้กับกลุ่มผู้เรียนทุกขนาด ตั้งแต่กลุ่ม
ย่อย จนถึงกลุ่มใหญ่มาก
               4. การสอนแบบบรรยายสามารถจะทำได้ในทุกสถานที่ เช่น ภายในอาคาร นอกอาคาร ในห้องเรียน หรือในสนามก็ตาม
               5. สามารถสอนให้ได้เนื้อหามากในช่วงเวลาอันจำกัด
                  6. ผู้บรรยายอาจยืดหยุ่นการบรรยายของตนให้เร็วหรือช้าได้ และอาจเพิ่มเติมหรือตัดทอนเนื้อหาได้ระหว่างการบรรยายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของผู้ฟัง

             ทิศนา แขมมณี (2550 : 329) กล่าวถึงข้อดีของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย มีดังนี้
               1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลาน้อย เมื่อเทียบกับวิธีสอนแบบอื่น ๆ
               2. เป็นวิธีสอนที่ใช้กับผู้เรียนจำนวนมากได้
               3. เป็นวิธีสอนที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก
               4. เป็นวิธีสอนที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้มาก

             จากที่นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงจุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การบรรยายสรุปเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจของการสอนได้เป็นข้อๆ ดังนี้
               1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลาน้อย เมื่อเทียบกับวิธีสอนแบบอื่น ๆ
               2. เป็นวิธีสอนที่ใช้กับผู้เรียนจำนวนมากได้
               3. เป็นวิธีสอนที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก
               4. เป็นวิธีสอนที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้มาก
               5. โอกาสที่จะปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการให้เหมาะสมกับผู้ฟัง  เวลา และองค์ประกอบอื่น ๆ ได้ดีกว่าวิธีอื่น
               6. การสอนแบบบรรยายสามารถจะทำได้ในทุกสถานที่ เช่น ภายในอาคาร นอกอาคาร ในห้องเรียน หรือในสนามก็ตาม

ข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บรรยาย
             นักวิชาการได้กล่าวถึงข้อจำกัดที่ใช้ในการสอนโดยใช้การบรรยาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
                  อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 140-141) กล่าวว่า  ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การบรรยาย มีดังนี้
               1. การบรรยายไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน เพราะต้องรับและรู้เรื่องเดียวกันเวลาเดียวกัน
               2. ผู้เรียนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น (บางครั้งมีได้บ้างแต่น้อย) ทำให้ขาดโอกาสในการฝึกความคิดวิเคราะห์
               3. การบรรยายที่ดีต้องอาศัยทักษะและเทคนิคการพูดที่เร้าความสนใจ  ซึ่งไม่สามารถทำได้ทุก ๆ คน
               4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนจด ท่องจำ มากกว่าการศึกษาด้วยตนเอง
               5. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนน้อย ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หมดความสนใจได้ง่าย
               6. ใช้ได้เหมาะสมดีเฉพาะผู้เรียนระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีช่วงความสนใจยาวในการฟัง
บรรยาย
                  เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 230-231) กล่าวว่า การสอนแบบบรรยายมีข้อด้อย  ดังนี้
               1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนน้อยมากหรือไม่มีเลย ทำให้มีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบเฉื่อยชา (Passive Learning)
               2. เป็นการเรียนการสอนที่ไม่ส่งเสริมความสามารถในการคิดของผู้เรียน
               3. การสอนแบบบรรยายจะได้ผลดีต้องอาศัยผู้บรรยายที่มีความสามารถในการบรรยายและมีความรู้ดี มิฉะนั้นไม่ได้ผล
               4. ช่วงความสนใจของผู้เรียนไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดการบรรยาย ดังนั้น ถ้าสอนไปนาน ๆ จะไม่ได้ผล
               5. การสอนแบบบรรยายไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน เพราะทุกคนต้องเรียนเรื่องเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน
               ทิศนา แขมมณี (2550 : 329) กล่าวถึงข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย มีดังนี้

               1. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนมีบทบาทน้อยจึงอาจทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจในการบรรยาย
               2. เป็นวิธีสอนที่อาศัยความสามารถของผู้บรรยาย ถ้าผู้บรรยายไม่มีศิลปะในการบรรยายที่ดึงดูดใจผู้เรียน ผู้เรียนอาจขาดความสนใจ และถ้าผู้สอนขาดการเรียบเรียงเนื้อหาสาระอย่างเหมาะสม ผู้เรียนอาจไม่เข้าใจ และไม่สามารถซักถามได้ (ถ้าผู้บรรยายไม่เปิดโอกาส)
               3. เป็นวิธีสอนที่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล
               จากที่นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงข้อจำกัดมาทั้งหมดพอจะสรุปข้อจำกัดได้ดังนี้คือ
               1. ผู้สอนต้องใช้ทักษะการเร้าความสนใจของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
               2. ใช้ได้เหมาะสมดีเฉพาะผู้เรียนที่มีช่วงความสนใจในการฟังการบรรยายได้ยาว
               3. ผู้เรียนต้องใช้ความสามารถทักษะด้านการฟังและการคิด
               4. เป็นการสอนที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
               5. ผู้เรียนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการเรียนได้น้อย
               6. ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและขาดความสนใจได้ง่าย
               7. ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ระดับการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งเป็นความสามารถขั้นสูง เว้นแต่มีกิจกรรมอื่นๆ เสริมระหว่างการบรรยาย




สรุปท้ายบท

              การสอนแบบบรรยาย หมายถึง วิธีการสอนที่ผู้สอนเป็นฝ่ายบอกเล่า อธิบาย หรือถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนในรูปของคำพูด โดยผู้สอนจะเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้มาเพื่ออธิบายให้ผู้เรียนฟังโดยเฉพาะ  ผู้เรียนจึงเป็นฝ่ายที่จะได้รับข้อมูลจากเนื้อหาในบทเรียนเพียงอย่างเดียว โดยผู้เรียนจะต้องใช้การฟัง การวิเคราะห์ การจดจำเนื้อหาสาระ หรือจดบันทึกจากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้ ทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเป็นเพียงผู้รับ วิธีการสอนนี้จึงเน้นผู้สอนเป็นสำคัญ
            ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ได้แก่ การที่ผู้สอนถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนโดยการ พูด อธิบาย บอก เล่า ให้ผู้เรียนได้ฟัง  และอาจจดบันทึกสาระสำคัญไว้สำหรับการทบทวนความรู้
            การสอนโดยใช้การบรรยายมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ 1) มุ่งช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้เรียนรู้ในเวลาที่จำกัด 2) เพื่อให้ความรู้หรือประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน เป็นความรู้ที่ค้นคว้าหาได้ยาก หรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง 3) เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ไปในทิศทางเดียวกันและได้เนื้อหาอย่างเท่าเทียมกัน และ 4) เพื่อช่วยนำทางในการอ่านหนังสือของผู้เรียน และช่วยสรุปประเด็นสำคัญในกรณีที่ผู้สอนมอบหมายให้ไปอ่านมาล่วงหน้าแล้ว
            ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้การบรรยายที่สำคัญ ได้แก่ ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยาย  ขั้นสอนโดยใช้การบรรยาย  ซึ่งขั้นนี้ยังแบ่งออกเป็น 1) ขั้นนำ 2) ขั้นอธิบาย และ 3) ขั้นสรุป และสุดท้ายคือขั้นประเมินผลการสอนโดยใช้การบรรยาย
            ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การบรรยายนั้น ครูควรจัดทำแผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้  โดยคำนึงถึงพื้นความรู้ ความสามารถ  และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  ซึ่งในแผนการสอนนั้นครูก็ต้องเตรียมในส่วนของวัตถุประสงค์การเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ  การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นต้น แต่ที่พิเศษและท้าทายความสามารถของคุณครูก็คือ จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้การบรรยายอย่างไรให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งครูอาจทำได้โดยใช้สื่อ ใช้คำถาม เรื่องเล่า สถิติที่สำคัญ คำกลอน คำอุปมาอุปมัย รวมทั้งใช้อารมณ์ขันหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม และเช่นเดียวกับการสอนในทุกครั้ง ก่อนเวลาสอน ครูควรเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย  และพร้อมสำหรับการใช้งาน และหากเนื้อหาที่จะบรรยายนั้นใหม่สำหรับคุณครู  คุณครูก็ควรซักซ้อมการสอน ซึ่งจะทำให้ครูมีความชำนาญในการสอนโดยใช้การบรรยายมากยิ่งขึ้น
            ขั้นสอนโดยใช้การบรรยายนั้น ครูควรเริ่มต้นด้วยขั้นนำโดยการซักถามพูดคุยกับผู้เรียน  จากนั้นจึงทบทวนการบรรยายในครั้งก่อนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
            จากนั้นถึงขั้นอธิบายครูผู้สอนควร 1) บอกโครงเรื่อง ขอบข่ายของเนื้อหา และแจ้งจุดประสงค์ของบทเรียน 2) อธิบายให้ชัดเจนตามลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องกัน 3) สังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนตลอดเวลาเพื่อการย้ำซ้ำ หรือหยุดทบทวนใหม่ 4) ถามคำถามในบางตอนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน และทดสอบความเข้าใจ 5) ยกตัวอย่างประกอบ เพื่อเพิ่มความแจ่มแจ้งในบทเรียน 6) ใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพท่าทาง ท่าทีการพูดอธิบาย การใช้ภาษา และอารมณ์ขันที่เหมาะสม  และ 7) ผู้สอนควรจดหัวข้อย่อย ๆ ลงบนกระดานดำเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตามบทเรียนและจดเนื้อหาสาระสำคัญลงในสมุดจดของตนได้
            ขั้นต่อมา ขั้นสรุป ผู้สอนอาจใช้วิธี 1) สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ 2) ตั้งปัญหาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์ 3) ฝากปัญหาให้ผู้เรียนไปคิดต่อ 4) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามปัญหา 5) มอบหมายงานให้ผู้เรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม และ 6) ควรได้บอกล่วงหน้าถึงเนื้อหาที่จะเรียนในครั้งต่อไป
            นอกจากนี้ ผู้สอนควรจะได้เข้าใจว่าความน่าสนใจหรือความสนุกสนานในการเรียนนั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความสนุกสนานทางอารมณ์อย่างเดียว  แต่อาจจะสนุกสนานทางปัญญากับวิชาที่เรียนก็ได้  ดังนั้นผู้สอนควรจะสำรวจตัวเองว่าเราสนุกกับวิชาที่สอนเพียงใด ถ้าเราเองยังไม่สนุกก็ยากที่จะสอนให้ผู้เรียนสนุกสนานได้
            ขั้นสรุปและประเมินผลของการสอนโดยใช้การบรรยายนั้น เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอน สรุปโยงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ หรือให้ผู้เรียนได้ร่วมกันสรุปก็เป็นวิธีการที่เหมาะสม  เพราะให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด  และเป็นการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไปในตัว  โดยครูมีบทบาทในการแนะนำการสรุป  จากนั้นครูสามารถติดตามการบรรยายโดยการตรวจดูสมุดบันทึก  การถามคำถาม หรือแบบทดสอบปรนัยสั้นๆ เป็นต้น  นอกจากนี้ผู้สอนสามารถติดตามผลของผู้เรียนโดยการมอบหมายงานให้ไปศึกษาค้นคว้าต่อพร้อมนำเสนอการรายงาน การศึกษาค้นคว้าต่อไป
            สำหรับการติดตามผลการสอนของครูก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ  ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้แบบสอบถามผู้เรียนเกี่ยวกับความพึงพอใจในกิจกรรมการเรียนการสอน  หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคนิควิธีการสอนของครู  นอกจากนี้ผู้สอนอาจให้เพื่อนครูเข้าสังเกตการณ์สอนและให้คำติชม หรืออาจใช้การบันทึกวีดีทัศน์แล้วนำมาชมทีหลังก็ได้
            จุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การบรรยายที่น่าสนใจสรุปได้ ดังนี้ 1) ใช้เวลาน้อย เมื่อเทียบกับวิธีสอนแบบอื่น ๆ 2) ใช้กับผู้เรียนจำนวนมากได้ 3) สะดวก ไม่ยุ่งยาก 4) ถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้มาก 5) โอกาสที่จะปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการให้เหมาะสมกับผู้ฟัง  เวลา และองค์ประกอบอื่น ๆ ได้ดีกว่าวิธีอื่น และ 6) การสอนแบบบรรยายสามารถจะทำได้ในทุกสถานที่ เช่น ภายในอาคาร นอกอาคาร ในห้องเรียน หรือในสนามก็ตาม
            ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การบรรยายสรุปได้ดังนี้ คือ 1) ผู้สอนต้องใช้ทักษะการเร้าความสนใจของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น  2) ใช้ได้เหมาะสมดีเฉพาะผู้เรียนที่มีช่วงความสนใจในการฟังการบรรยายได้ยาว  3) ผู้เรียนต้องใช้ความสามารถทักษะด้านการฟังและการคิด 4) เป็นการสอนที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 5) ผู้เรียนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการเรียนได้น้อย 6) ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและขาดความสนใจได้ง่าย และ 7) ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ระดับการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งเป็นความสามารถขั้นสูง เว้นแต่มีกิจกรรมอื่นๆ เสริมระหว่างการบรรยาย

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

1. จงอธิบายความหมายของ วิธีสอนโดยใช้การบรรยายตามความคิดเห็นของท่าน
2. ลักษณะสำคัญของวิธีสอนแบบบรรยาย มีอะไรบ้าง
3. จงอธิบายจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การบรรยาย
4. วิธีสอนโดยใช้การบรรยายจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง
5. วิธีสอนโดยใช้การบรรยายมีขั้นตอนอะไรบ้าง  จงอธิบาย
              6. ท่านจะมีเทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การบรรยายให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง
7. จงอธิบายจุดเด่นและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย มาพอสังเขป
              8. ให้ท่านสังเกตการสอนและศึกษาการสอนโดยใช้การบรรยายของครูที่มีความเชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมการสอนของครู  เพื่อไว้ใช้เป็นแบบอย่าง
              9. ให้ท่านทดลองฝึกสอนโดยใช้การบรรยาย  แล้วให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำติชม หรืออาจบันทึกวีดีทัศน์ไว้วิเคราะห์การสอนของตนเองก็ได้




No comments:

Post a Comment