ศูนย์การเรียน

วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน  (Learning Center)

               ในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนมีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการส่วนใหญ่ก็จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด  การสอนโดยการใช้ศูนย์การเรียนเป็นเทคนิคการสอนที่เน้นการเรียนเป็นกลุ่มย่อย ให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนร่วมกัน ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ศูนย์การเรียนแต่ละศูนย์ก็จะมีเนื้อหาและบทเรียนที่แตกต่างกันไป  โดยจะมีการแบ่งกลุ่มเพื่อปฏิบัติกิจกรรมของแต่ละศูนย์การเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนโดยทั่วถึง ทำให้ผู้มีโอกาสหาคำตอบโดยตนเองและสามารถร่วมงานกับเพื่อนๆ ได้ โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนแล้วจะมีการตั้งประธานกลุ่มและเลขานุการประจำกลุ่มไว้สำหรับประสานงานและติดต่อกันระหว่างผู้เรียนกับสมาชิกในกลุ่ม (ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์, 2530 : 58)
               เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมากยิ่งขึ้น ในบทนี้กล่าวถึงความหมาย  จุดมุ่งหมาย  องค์ประกอบของการเรียนการสอน ลักษณะสำคัญของการเรียนการสอน ขั้นตอนการเรียนการเรียนการสอน และข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน พร้อมด้วยสรุปท้ายบทและกิจกรรมและคำถามท้ายบทด้วย

ความหมาย
               วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน ได้มีนักวิชาการหลายท่านกล่าวถึงความหมายไว้ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 374) กล่าวถึงวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน คือกระบวนการในการสอนให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากศูนย์การเรียนหรือมุมความรู้ ซึ่งผู้สอนได้จัดเตรียมเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่ใช้สื่อการสอนหลายๆ อย่างประสมกันเอาไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ปกติศูนย์การเรียนจะมีหลายศูนย์จะมีเนื้อหาสาระเบ็ดเสร็จในตัวเอง ผู้เรียนจะหมุนเวียนกันเข้าศูนย์ต่างๆ จนครบทุกศูนย์โดยมีศูนย์สำรองไว้สำหรับผู้เรียนที่เรียนที่เรียนรู้ได้เร็วและทำกิจกรรมเสร็จก่อนคนอื่นๆ ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมศูนย์การเรียน ให้คำแนะนำ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน 
               ไสว ฟักขาว (2544 : 126) อธิบายว่า วิธีสอนแบบศูนย์การเรียนเป็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มๆ แล้วร่วมกันศึกษาและทำกิจกรรมในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองโดยแต่ละกลุ่มจะหมุนเวียนไปตามศูนย์กิจกรรมที่ครูได้จัดเตรียมไว้จนครบทุกศูนย์กิจกรรม โดยทั่วไปจำนวนกลุ่มของผู้เรียนจะเท่ากับจำนวนของศูนย์กิจกรรมที่จัดเตรียมไว้ 
               กรมวิชาการ (2527 : 214)  อ้างใน  อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 165) กล่าวว่า ศูนย์การเรียนเป็นวิธีการสอนที่เน้นความสำคัญของนักเรียนหรือยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางและใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สื่อประสม (Multi  Media  Approach)  และกระบวนการกลุ่ม (Group  Process)  เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญาจากการกระทำกิจกรรม  และการศึกษาด้วยตนเอง  โดยแต่ละศูนย์มีชุดการสอนให้นักเรียนแต่ละกลุ่มได้หมุนเวียนเรียนจนครบทุกศูนย์
               สามารถ คงสะอาด (2535 : 47-48) กล่าวว่า การสอนแบบศูนย์การเรียน หมายถึง การจัดการเรียนที่เน้นกิจกรรมการเรียนโดยใช้สื่อการสอนที่เรียกว่าชุดการเรียน โดยการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ด้วยการปฏิบัติกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในแต่ละชุดการสอน โดยผู้เรียนจะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำกิจกรรมจนครบทุกศูนย์ 
               จากที่นักวิชาการได้กล่าวถึงวิธีสอนแบบศูนย์การเรียน จึงสรุปได้ว่า การสอนแบบศูนย์การเรียน หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่แบ่งให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย โดยเน้นกิจกรรมการเรียนสื่อการเรียนการสอนที่เป็นชุดการสอน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ โดยแต่ละกลุ่มจะต้องหมุนเวียนเรียนจนครบทุกศูนย์  และครูจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในการสอนพร้อมการสรุปและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

จุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
               วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน นับว่าเป็นการที่ดีมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายของการสอนไว้ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 374) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเอง 
อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 165) อธิบายความมุ่งหมายของการสอนแบบศูนย์การเรียน ดังนี้
               1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
               2. เพื่อฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักเคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่น
               3. เพื่อฝึกความรับผิดชอบ และการทำกิจกรรมตามความถนัด ความสนใจ และความสามารถของตนเอง  และ สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 53) ได้เสนอแนะความมุ่งหมายของการสอนโดนใช้ศูนย์การเรียน ไว้ว่า
               1. เพื่อฝึกนักเรียนทำงานเป็นหมู่
               2. เพื่อฝึกให้เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
               3. เพื่อฝึกปฏิบัติตนภายในกรอบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
               4. เพื่อฝึกรับผิดชอบต่อตนเองและหมู่คณะ
               สรุปได้ว่า วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ มุ่งให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ฝึกให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม มีความรับผิดชอบและสามารถปฏิบัติงานภายในกรอบตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้
ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน

               วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน (Learning Center) เป็นวัตกรรมที่เน้นกิจกรรมการเรียนของผู้เรียน โดยแบ่งบทเรียนออกเป็น 4-6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีสื่อการเรียนที่จัดไว้ในซองหรือในกล่องวางบนโต๊ะ เป็นศูนย์กิจกรรม ซึ่งจะมีกิจกรรม เนื้อหาสาระการเรียนและวัสดุอุปกรณ์แตกต่างกัน ในการสอนวิธีนี้จะแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนศูนย์กิจกรรม แต่ละกลุ่มมีจำนวน 6-8 คน หมุนเวียนกันประกอบกิจกรรมตามศูนย์ต่างๆ ซึ่งจะใช้เวลาแห่งละ 15-20 นาที จนกว่าจะครบทุกศูนย์ ตัวอย่างของการจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียนแสดงไว้ในภาพ (บุญชม ศรีสะอาด, 2541 : 101)

วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนเป็นนวัตกรรมที่อาศัยพื้นฐานทฤษฎีการใช้สื่อประสม (Multimedia)  และกระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นการนำบูรณการใช้สื่อการสอนชนิดต่างๆ และกลุ่มกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

แผนภาพที่  8  การจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน (บุญชม ศรีสะอาด, 2541 : 101)

               และ ไสว ฟักขาว (2544 : 127) กล่าวถึงลักษณะสำคัญของวิธีสอนแบบศูนย์การเรียน ไว้ดังนี้
               1. ฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง
               2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถที่แตกต่างกัน ในอัตราต่างกัน
               3. ฝึกการเรียนรู้ร่วมกัน ร่วมมือกันในการทำกิจกรรม
               นอกจากนี้ สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 53-54) กล่าวถึงลักษณะสำคัญของวิธีสอนแบบศูนย์การเรียนคือ ให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรมและศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น รู้จักแสดงความคิดเห็น รู้จักตัดสินใจ มีความรับผิดชอบและรู้จักร่วมมือ การสอนแบบนี้เป็นการนำเนื้อหาในบทเรียนมาแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทีละหน่วย ซึ่งถือว่าเป็นการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันหมายถึงสิ่งต่อไปนี้
               1. เป็นการจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
               2. เป็นวิธีการที่ทำให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้ไปทีละน้อยตามความเหมาะสม
               3. ครูให้คำปรึกษาและแนะนำ
               4.ครูจัดเตรียมเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอนตลอดจนการวัดผลให้พร้อมมูล เพื่อจะใช้สอนแบบศูนย์การเรียน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์
               5. นักเรียนจะทราบผลการเรียนทันทีหลังจากที่เรียนจบศูนย์ ถ้าเป็นผลแห่งความพึงพอใจก็จะเกิดความมีกำลังใจ แต่ถ้าเป็นผลที่ยังไม่พอใจก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
               6. เป็นการเรียนที่ไม่ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายเพราะเด็กต้องเรียนรู้แข่งกับเวลา

องค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน 
               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 166-167) กล่าวถึง ศูนย์การเรียนมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ บทบาทของผู้สอน บทบาทของผู้เรียน  ชุดการสอน  การจัดห้องเรียน  ซึ่งสาระสำคัญของแต่ละองค์ประกอบ มีดังนี้
             1. บทบาทของผู้สอน   การสอนแบบศูนย์การเรียน แม้ว่าผู้สอนได้ลดบทบาทในการสอนลงไปมากแล้วก็ตาม แต่การสอนแบบศูนย์การเรียนจุขาดประสิทธิภาพไปถ้าขาดผู้สอนบทบาทของผู้สอนในการสอนแบบศูนย์การเรียน มีดังนี้
                     1.1 เป็นผู้กำกับการเรียนรู้
                     1.2 เป็นผู้ประสานงานกิจกรรมการเรียน
                     1.3 บันทึกการพัฒนาของผู้เรียนแต่ละคน
                     1.4 เป็นผู้เตรียมกิจกรรมและสื่อสารสอนเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
             2. บทบาทของผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากบทบาทที่ถูกต้องของผู้เรียนจะทำให้การสอนแบบศูนย์การเรียนมีประสิทธิภาพ และมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ บทบาทและหน้าที่ของผู้เรียน มีดังนี้
                     2.1 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการเรียนแบบศูนย์การเรียน
                     2.2 ปฏิบัติกิจกรรมตามคำสั่งที่ได้รับจากศูนย์การเรียนแต่ละศูนย์อย่างเคร่งครัดศึกษาให้ครบทุกศูนย์กิจกรรม
                     2.3  ให้ความร่วมมือกับกลุ่มในการประกอบกิจกรรม รวมทั้งการเป็นผู้นำหรือผู้ตามที่ดีด้วย
               3. ชุดการสอน  ในการสอนแบบศูนย์การเรียน ชุดการสอนถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ชุดการสอนจะเสนอเนื้อหาสาระในรูปของสื่อประสม ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์ และวิธีการ ชุดการสอนแต่ละชุดจะประกอบด้วย
                     3.1 คู่มือครู
                     3.2 แบบฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เรียน
                     3.3 สื่อสำหรับศูนย์กิจกรรม
                     3.4 แบบทดสอบสำหรับการประเมินผล
             4. การจัดห้องเรียน การจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน จัดแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามกลุ่มกิจกรรมที่ระบุไว้ในชุดการสอน การจัดกลุ่มกิจกรรมอาจแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                     4.1 จัดเป็นกลุ่มสำหรับให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมตามปกติ โดยวิธีดังกล่าวก็อาจ
จัดง่ายๆ โดยการจัดโต๊ะเก้าอี้ 4-6 ตัว มารวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า ศูนย์กิจกรรม โดยนิยมจัดไว้กลางห้อง
                     4.2  จัดกลุ่มตามความสนใจ จัดตามกลุ่มวิชาโดยจัดโต๊ะและเก้าอี้เป็นกลุ่มๆ วางเข้าชิดผนัง
               นอกจากนั้น ผู้สอนอาจตกแต่งห้องเรียนเพื่อเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้ เช่น มีป้ายนิเทศ มีรูปภาพติดที่ผนังห้อง เป็นต้น
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 374 ) เสนอองค์ประกอบสำคัญของวิธีการสอนแบบศูนย์การเรียนดังนี้
               1. มีผู้สอนและผู้เรียน
               2. มีชุดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาสาระ บัตรคำสั่งในการทำกิจกรรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และสื่อที่จำเป็นสำหรับทำกิจกรรม รวมทั้งแบบวัดและประเมินผลการเรียนรู้
               3. มีศูนย์การเรียนหรือมุมความรู้หรือสถานที่สำหรับกลุ่มผู้เรียนในการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบัตรคำสั่งผู้เรียนศึกษาและทำกิจกรรมตามศูนย์ต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคล จนครบทุกศูนย์หรือครบทุกเนื้อหาผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์
ไสว ฟักขาว (2544 : 126) อธิบายถึงองค์ประกอบในศูนย์กิจกรรม ประกอบไปด้วย
               1. ชุดการสอน ที่มีหนังสือสำหรับค้นคว้า รูปภาพแบบทดสอบและบัตรคำสั่งที่จะชี้แจงแนวทางในการทำกิจกรรมในแต่ละศูนย์
               2. วัสดุ อุปกรณ์ในการเรียน
               3.  เครื่องมือ



วงรี: ศูนย์ฯ ที่ 1
วงรี: ศูนย์ฯ ที่  5
วงรี: ศูนย์ฯ ที่ 2

 
วงรี: ศูนย์ฯ ที่  3

วงรี: ศูนย์ฯ ที่  4 กล่องข้อความ: ศูนย์ฯ สำรอง

 
 

แผนภาพที่  9  ลักษณะการจัดศูนย์การเรียน (ไสว ฟักขาว, 2544 : 126)

องค์ประกอบของชุดการสอน 
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 53) กล่าวถึงส่วนประกอบของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน ประกอบไปด้วย
               1. คู่มือครู ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม เนื้อหาผลงานที่คาดหลังจากนักเรียน สื่อการเรียน หนังสือประกอบการค้นคว้าสำหรับครู แนวการประเมินผล ขั้นการดำเนินการสอน
               2. แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
               3. บัตรต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจกรรม ได้แก่ บัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรม บัตรคำถาม และบัตรเฉลย
               4. สื่อการเรียนการสอนที่เลือกแล้วมีความเหมาะสมในด้านต่างๆ

ประเภทของชุดการสอน  
               สุพิน บุญชูวงศ์ (2544 : 53) กล่าวถึงประเภทของชุดการสอนในการสอนแบบศูนย์การเรียนไว้ดังนี้
               1. ชุดการสอนแบบเรียนด้วยตนเอง หรือชุดการสอนรายบุคคล ซึ่งประกอบด้วยบทเรียนโปรแกรม แบบประเมินผล และอุปกรณ์การเรียน
               2. ชุดการสอนแบบเรียนเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งจัดประสบการณ์ต่างๆ ที่นักเรียนจะต้องประกอบกิจกรรมเป็นหมู่คณะ ตามบัตรคำสั่ง โดยจัดแบบศูนย์การเรียน
               3. ชุดการสอนประกอบการบรรยายของครู เป็นกล่องกิจกรรมสำหรับช่วยครูในการสอนกลุ่มใหญ่ ให้นักเรียนได้ประสบการณ์ที่พร้อมๆ กัน ตามเวลาที่กำหนด



บทบาทของผู้เรียน   
               ไสว ฟักขาว (2544 :127) อธิบายถึงบทบาทของผู้เรียนว่าจะต้องประกอบไปด้วย
               1. ทำความเข้าในวิธีการเรียนแบบศูนย์การเรียน
               2. ปฏิบัติกิจกรรมตามบัตรคำสั่งในแต่ละศูนย์
               3. ร่วมมือกันทำกิจกรรมโดยปฏิบัติตนเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

ขั้นตอนการสร้างชุดการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
               ขั้นตอนของการสร้างชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนสรุปได้ดังนี้ (อาภรณ์  ใจเที่ยง, 2550 : 167)
               1. เลือกเรื่องที่จะสอน แล้วแบ่งเป็นหัวเรื่องย่อยประมาณ 4-6 หัวเรื่อง
               2. กำหนดมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดของแต่ละหัวเรื่อง
               3. กำหนดจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม
               4. กำหนดกิจกรรมการเรียนโดยให้สอดคล้องกับหัวเรื่องของชุดการสอน
               5. กำหนดสื่อการสอน สื่อการสอนที่จะใช้ควรเป็นสื่อที่มีราคาถูกและสามารถผลิตเอง
ได้ เช่น บัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรคำ บัตรคำถาม บัตรภาพ กระดาษคำตอบเกมต่างๆ บทเรียนแบบโปรแกรม เป็นต้น
               6. เตรียมข้อสอบที่จะใช้ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ออกข้อสอบให้สามารถวัด
               7. ได้ตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ ควรเป็นข้อสอบแบบปรนัย

ขั้นตอนการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
               บุญชม  ศรีสะอาด (2541 :102-103) ขั้นตอนในการสอนแบบศูนย์การเรียนแบ่งเป็น 5 ขั้น คือ ขั้นประเมินผลก่อนเรียน ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน ขั้นสรุปบทเรียน และขั้นประเมินผลการเรียน  มีรายละเอียดดังนี้
               1. ขั้นประเมินผลก่อนเรียน  ขั้นแรกจะทำการทดสอบเพื่อวัดว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะเรียนอยู่ก่อนแล้วมากน้อยเพียงใด โดยอาจใช้เวลาทดสอบประมาณ 5-10 นาที ผู้สอนจะตรวจให้คะแนนเก็บไว้
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ผู้สอนจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนต่อบทเรียน โดยอาจใช้วิธีเล่านิทาน เล่นเกม ใช้โสตทัศนูปกรณ์ เช่น ภาพยนตร์ วีดีโอ สไลด์ รูปภาพเป็นต้น  หลังจากนั้นก็จะอธิบายให้ทราบถึงวิธีเรียน
               3. ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน  แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนของศูนย์กิจกรรม แต่ละกลุ่มอาจคละกันระหว่างคนเก่งและคนอ่อนหรือให้ผู้เรียนเลือกกลุ่มกันเอง ผู้เรียนเข้าประจำศูนย์กิจกรรม อ่านบัตรคำสั่งและปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้น หมุนเวียนกันจนครบทุกศูนย์ทั้งนี้อาจมีศูนย์สำรองสำหรับกลุ่มที่ทำกิจกรรมเสร็จก่อนกำหนด
               4. ขั้นสรุปบทเรียน  หลังจากที่ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมครบทุกศูนย์แล้ว ผู้สอนจะสรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น
               5. ขั้นประเมินผลการเรียน  ผู้สอนจะให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบเพื่อวัดผลการเรียน ซึ่งเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกับที่ให้ทำก่อนเรียน นำคะแนนการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกันเพื่อทราบความก้าวหน้าในการเรียน
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 375) เสนอขั้นตอนสำคัญของการสอนแบบศูนย์การเรียน ไว้ดังนี้ 
               1. ผู้สอนจัดเตรียมชุดการเรียนการสอนและจัดศูนย์การเรียน
               2. ผู้สอนให้คำชี้แจงและคำแนะนำแก้ผู้เรียนในการเรียนรู้โดยใช้ศูนย์การเรียน
               3. ผู้เรียนทำแบบสอบก่อนเรียน
               4. ผู้เรียนศึกษาและทำกิจกรรมตามบัตรคำสั่งในศูนย์ต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือ
               5. เป็นรายบุคคล จนครบทุกศูนย์หรือครบทุกเนื้อหา
               6. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

               นอกจากนี้ ไสว ฟักขาว (2544 :127) ยังได้เสนอขั้นตอนการสอนแบบศูนย์การเรียน ว่าประกอบไปด้วย           
               1. ขั้นประเมินผลก่อนเรียน เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียน อาจ
ใช้เวลา 5-10 นาที
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ครูนำเข้าสู่เรื่องที่จะเรียนโดยการเล่า การใช้รูปภาพ การถาม พร้อมทั้งอธิบายวิธีการเรียนแบบศูนย์การเรียน
               3. ขั้นทำกิจกรรม แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มควรคละคนที่เก่ง ปานกลาง และอ่อนแล้วให้ผู้เรียนเข้าประจำศูนย์กิจกรรม จากนั้นปฏิบัติกิจกรรมตามบัตรคำสั่ง เมื่อจบศูนย์หนึ่งก็ให้เปลี่ยนศูนย์ หมุนเวียนจนครบทุกศูนย์ กลุ่มใดทำกิจกรรมเสร็จก่อนกำหนดเวลา ก็ให้เข้าไปศึกษาที่ศูนย์สำรองก่อน
               1. ขั้นสรุปบทเรียน ครูและผู้เรียนร่วมกันสรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน
               2. ขั้นประเมินผล ครูจะทำการทดสอบความรู้ของผู้เรียน
ตัวอย่าง  การจัดศูนย์การเรียน เรื่อง อาหาร

วงรี: ศูนย์ฯที่  1
คาร์โบไฮเดรต
วงรี: ศูนย์ฯที่  2โปรตีน
วงรี: ศูนย์ฯที่  5
เกลือแร่

กล่องข้อความ: ศูนย์ฯ สำรองน้ำ

วงรี: ศูนย์ฯที่  4
วิตามิน
วงรี: ศูนย์ฯที่  3
ไขมัน

         
แผนภาพที่  10  การจัดศูนย์การเรียน (ไสว ฟักขาว, 2544 : 127)

               เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 648) กล่าวถึงลำดับขั้นของการสอนแบบศูนย์การเรียนว่าอาจแบ่งเป็น 3 ขั้น คือ
               1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ครูจะต้องเป็นผู้นำเข้าสู่บทเรียน โดยบอกถึงเนื้อหาต่างๆ ของ
การเรียน และจะต้องใช้สิ่งประกอบการนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจในสิ่งที่จะเรียน นอกจากนี้จะต้องทำการทดสอบนักเรียน ซึ่งนับเป็นการทดสอบก่อนเรียน แล้วให้นักเรียนแบ่งกลุ่มประกอบกิจกรรม
               2. ขั้นประกอบกิจกรรม ผู้เสนอจะกำหนดให้แต่ละกลุ่มประกอบกิจกรรมกลุ่มละ 15 -
20 นาที เมื่อประกอบกิจกรรมเสร็จแล้ว อาจมีการเขียนรายงานผลลงในกระดาษคำตอบและตอบคำถามจากบัตรคำถามลงในแบบฝึกปฏิบัติทุกศูนย์ เมื่อเสร็จจากศูนย์กิจกรรมหนึ่งก็จะเวียนไปตามศูนย์กิจกรรมอื่นๆ จนครบทุกกลุ่ม หากกลุ่มใดประกอบกิจกรรมเสร็จก่อนกลุ่มอื่นก็จะไปปฏิบัติกิจกรรมที่ศูนย์สำรอง
               3. ขั้นสรุปบทเรียนและการประเมินผล เมื่อประกอบกิจกรรมเสร็จแล้วจะต้องมีการสรุปบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง โดยการใช้สื่อการสอนต่างๆ หรือจะให้นักเรียนประกอบกิจกรรมร่วมกันทั้งชั้น เช่น ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมารายงานหรือกำหนดกิจกรรมอื่นตามความเหมาะสมแล้วจึงให้นักเรียนทำแบบทดสอบ ซึ่งเรียกว่า การทดสอบหลังเรียน
               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 167-169) เสนอขั้นตอนการสอนการสอนแบบศูนย์การเรียนว่ามีขั้นตอนการสอน 5 ขั้นตอน ดังนี้

               1. ขั้นทดสอบก่อนเรียน  การทดสอบก่อนเรียนเป็นการวัดพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน
ว่ามีความเข้าใจในเรื่องที่จะเรียนอย่างไร การทดสอบก่อนเรียนนี้ใช้เวลาไม่มากนักเพียง  5-10 นาทีเท่านั้น เมื่อผู้เรียนทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว ผู้สอนจะตรวจและให้คะแนนไว้
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  การนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนที่จะมีต่อ
บทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนนั้นใช้เวลาไม่มากนักเช่นกัน อาจเพียง 10-15 นาที เช่น การนำเข้าสู่บทเรียนโดยการเล่านิทาน ถ้าเป็นกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็กเล็กเพื่อเร้าความสนใจ หรือเป็นการเล่นเกม แสดงบทบาทสมมุติอาจใช้สื่อประกอบเป็นต้นว่า รูปภาพ แผนภูมิ ภาพยนตร์ สไลด์ ฯลฯ
               3. ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน  โดยเริ่มต้น ดังนี้
                     1.1 การแบ่งกลุ่มผู้เรียน  การให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน ผู้สอนจะ
แบ่งกลุ่มกิจกรรมออกเป็น 5-6 กลุ่ม โดยมีวิธีแบ่งได้หลายแบบ เป็นต้นว่า แบ่งตามความเหมาะสม คือคละกันระหว่างเด็กเรียนเก่ง เด็กปานกลาง และเด็กเรียนอ่อน หรือให้ผู้เรียนเลือกกลุ่มเองก็ได้
                                          1.2 เมื่อแบ่งกลุ่มแล้ว ผู้เรียนจะอ่านบัตรคำสั่งและปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้นแต่ละกลุ่มจะใช้เวลา 15-20 นาที เมื่อประกอบกิจกรรมตามที่มอบหมายแล้วก็เตรียมเปลี่ยนกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมต่อไป
                              การเปลี่ยนกลุ่มกิจกรรม ผู้สอนจะให้ผู้เรียนเปลี่ยนกลุ่มเพื่อให้ทุกคนได้ประกอบกิจกรรมทุกอย่างจนครบถ้วน
               4. ขั้นสรุปบทเรียน  เมื่อผู้เรียนได้ประกอบกิจกรรมครบทุกศูนย์แล้ว ผู้สอนจะต้องสรุป
บทเรียนอีกครั้งเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น
5. ขั้นประเมินผลการเรียน  ผู้สอนจะให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน ซึ่งจะดูว่าผู้
เรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนเพียงใด กล่าวคือ เรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิมเท่าใด โดยนำไปเปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบก่อนเรียน
สำหรับกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ทำไปแล้วนั้น ผู้สอนควรประเมินผลและให้คะแนนด้วยเพื่อ
ดูว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิภาพเพียงใด









                           ขั้นตอนวิธีสอนแบบศูนย์การเรียน สรุปได้ดังแผนภูมิดังนี้

สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน: 1. ขั้นทดสอบก่อนเรียน
สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน: 2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน: 3. ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน
สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน: 4. ขั้นสรุปบทเรียน
 













สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน: 5.  ขั้นประเมินผลการเรียน                                


แผนภาพที่  11  ขั้นตอนวิธีสอนแบบศูนย์การเรียน (อาภรณ์  ใจเที่ยง2550 : 169)

               สรุปได้ว่า ขั้นตอนการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
               1. ขั้นทดสอบก่อนเรียน  ผู้สอนประเมินผู้เรียนก่อนการให้การสอบ เพื่อทดสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องที่จะสอนหรือไม่
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความสนใจอยากที่จะเรียนรู้ อาจใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
               3. ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน  แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามจำนวนของศูนย์กิจกรรม
ผู้เรียนเข้าประจำศูนย์กิจกรรม อ่านบัตรคำสั่งและปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้น หมุนเวียนกันจนครบทุกศูนย์ทั้งนี้อาจมีศูนย์สำรองสำหรับกลุ่มที่ทำกิจกรรมเสร็จก่อนกำหนด
               4. ขั้นสรุปบทเรียน  หลังจากที่ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมครบทุกศูนย์แล้ว ผู้สอนจะสรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น
               5. ขั้นประเมินผลการเรียน  ผู้สอนจะให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบเพื่อวัดผลการเรียน ซึ่งเป็น
แบบทดสอบชุดเดียวกับที่ให้ทำก่อนเรียน นำคะแนนการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกันเพื่อทราบความก้าวหน้าในการเรียน

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน 
(ทิศนา  แขมมณี, 2550  : 375-376)
1. การเตรียมการ  ในการสอนด้วยวิธีนี้ ผู้สอนจำเป็นต้องมีการจัดเตรียมชุดการเรียนการสอนให้พร้อม โดยผู้สอนจะนำเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มาจัดแบ่งออกเป็นหน่วย หรือเรื่องสำหรับศูนย์  และกำหนดจุดมุ่งหมายเนื้อหาสาระ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ชุดการเรียนการสอนโดยทั่วไป มักประกอบด้วย จุดม่งหมาย แบบสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เนื้อหาสาระบัตรคำสั่งให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งแบบฝึกหัด แบบสอบหลังเรียน เอกสารและวัสดุต่างๆ ที่จำเป็น เช่น คู่มือ คำชี้แจง บัตรคำถาม บัตรเฉลยคำตอบ เป็นต้น นอกจากนั้นอาจมีสื่อการเรียน เช่น แผนที่ ภาพ รวมทั้งเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรม    เช่น    เครื่องเล่นเทป   ม้วนเทป   วีดีโอเทป สไลด์ ภาพยนตร์ เป็นต้น
               การสร้างชุดการเรียนการสอนสำหรับศูนย์การเรียนนั้น ครูสามารถจัดทำขึ้นโดยใช้หลักการเช่นเดียวกับการทำแผนกการสอนตามปกติ แต่แทนที่ครูจะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการสอน ครูจะต้องจัดเนื้อหาสาระและคิดกิจกรรมที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยครูให้คำแนะนำและคำชี้แจงไว้ในบัตรคำสั่ง รวมทั้งจัดเตรียมสื่อต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ ตลอดจนจัดทำแบบสอบก่อนเรียนและหลังเรียนสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย โดยทั่วไปชุดการเรียนการสอนมี 3 ชนิด คือ (1) ชุดการเรียนการสอนรายบุคคล เป็นชุดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งผู้เรียนอาจนำไปเรียนที่บ้านก็ได้ เมื่อเรียนจบและสามารถทำแบบสอบได้ในระดับที่กำหนดไว้แล้วผู้เรียนจะสามารถเรียนชุดการเรียนการสอนต่อไปได้ (2) ชุดการเรียนการสอนสำหรับกิจกรรมกลุ่ม เป็นชุดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนหลายคน (กลุ่มย่อยประมาณ 4-8 คน) สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยครูจะจัดสื่อและวัสดุต่างๆ เตรียมไว้อย่างพอเพียงสำหรับกลุ่ม (3) ชุดการเรียนการสอนประกอบการบรรยาย เป็นชุดการเรียนการสอนที่มีกิจกรรมและสื่อที่ครูสามารถใช้ประกอบการบรรยาย เป็นการช่วยให้ครูพูดน้อยลง และผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรมมากขึ้น
               นอกจากการจัดทำชุดการเรียนการสอนแล้ว ก่อนสอนผู้สอนจะต้องจัดสถานที่สำหรับผู้เรียนไว้ให้พร้อม โดยทั่วไปวิธีที่สะดวกสำหรับครูก็คือ จัดโต๊ะและเก้าอี้เป็นกลุ่มย่อย และจัดวางชุดการเรียนการสอนพร้อมทั้งวัสดุและสื่อต่างๆ ไว้ให้พร้อม ปกติศูนย์การเรียนจะมีหลายศูนย์ โดยแต่ละศูนย์จะมีเนื้อหาสาระเบ็ดเสร็จในตัวเอง และจะมีศูนย์สำรองไว้ 1 ศูนย์ เพื่อให้ผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมเสริมในระหว่างรอเพื่อที่ยังทำไม่เสร็จ การจัดศูนย์แต่ละศูนย์ควรจัดให้ห่างกันพอสมควร เพื่อจะได้ไม่รบกวนกันและควรจะจัดช่องทางเดินระหว่างศูนย์ให้สามารถเดินได้สะดวก เพื่อเวลาสับเปลี่ยนกลุ่มจะได้ไม่ยุ่งยากสับสน
               2. การดำเนินการเรียนการสอน  เริ่มต้นครูจำเป็นต้องชี้แจงและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนในการเรียน โดยเฉพาะผู้เรียนที่ยังไม่เคยได้เรียนรู้โดยใช้ศูนย์การเรียนมาก่อนหลังจากที่แน่ใจว่า ผู้เรียนเข้าใจและพร้อมแล้ว จึงให้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ปรากฏอยู่ในบัตรคำสั่ง โดยหมุนเวียนกันเข้าศูนย์การเรียนที่มีอยู่จนครบทุกศูนย์ และทำแบบสอบประเมินผลการเรียนรู้ของตน ครูทำหน้าที่ดูแล ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนในการทำกิจกรรมต่างๆ และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
               3. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ของผู้เรียนด้วยวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ และมักใช้วิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การใช้แบบสอบก่อนเรียนและหลังเรียน การตรวจสอบจากผลงานที่ผู้เรียนทำ การดูพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนรู้และการให้ผู้เรียนประเมินตนเอง หรือให้เพื่อนๆ ร่วมกันประเมินด้วยเป็นต้น

จุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน  
               สำหรับจุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน ได้มีนักวิชาการได้เสนอไว้หลายท่าน ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 376) กล่าวถึงจุดเด่นของการเรียนการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนไว้  ดังนี้
               1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
               2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้
               3. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนทราบผลการเรียนรู้ทันทีที่เรียนจบ
                  4. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มย่อยได้
             อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 169) กล่าวถึง จุดเด่นของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน ดังนี้
               1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองตามอัตภาพ
               2. ส่งเสริมความเป็นผู้ใฝ่รู้ของผู้เรียน เปิดโอกาสให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเองแทนการ
เรียนจากผู้สอนเพียงอย่างเดียว
               3. ส่งเสริมความรับผิดชอบในการเรียนของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม
               4. ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเอง
               5. ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สร้างความสามัคคี โดยเปิดโอกาสให้
กลุ่มที่ร่วมปฏิบัติกิจกรรมในศูนย์เดียวกัน มีการช่วยเหลือร่วมมือดำเนินกิจกรรมการเรียนร่วมกัน เช่น เด็กเก่งช่วยเหลือเด็กอ่อน เป็นต้น
               6. ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนผู้สอน เพราะผู้สอนมีบทบาทในการสอนน้อยลงมาก
               7. สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้เรียนจำนวนมาก
             สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 57) กล่าวถึง จุดเด่นของการสอนแบบศูนย์การเรียน ดังนี้  
               1. ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
               2. ฝึกให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ
               3. ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์
               นอกจากนี้ สามารถ คงสะอาด (2535 : 50) กล่าวถึง จุดเด่นของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีดังนี้ 
               1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
               2. ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
               3. ส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นรู้จักคิด รู้จักวิจารณ์ อย่างมีเหตุผล
               4. ส่งเสริมความมีวินัย และความรับผิดชองร่วมกัน
               5. ช่วยให้บทเรียนน่าสนใจและบรรยากาศในการเรียนดีขึ้น
               และ บุญชม ศรีสะอาด (2541 : 103) กล่าวถึง จุดเด่นของการสอนแบบศูนย์การเรียน ว่ามีประโยชน์ดังนี้
               1. การสอนแบบศูนย์การเรียนมีข้อดีดังนี้
               2. ส่งเสริมความรับผิดชอบในการเรียนของผู้เรียน
               3. ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
               4. ผู้เรียนกล้าแสดงออก บรรยากาศในการเรียนไม่เคร่งเครียด
               5. ผู้เรียนสามารถนำสื่อการเรียนมาทบทวนได้ตามต้องการ
               6. ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาจากสื่อหลายประเภท

               จากที่นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงจุดเด่นของการสอนโดยศูนย์การเรียน สรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้
               1. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการใฝ่รู้
               2. ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
               3. เป็นการเรียนที่ทำให้ผู้เรียนทราบผลทันที
               4. ส่งเสริมความรับผิดชอบให้กับผู้เรียน
               5. ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครู
               6. เป็นการเรียนที่สามารถใช้กับกลุ่มผู้เรียนจำนวนมากได้
               7. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม




ข้อจำกัดของการสอนโดยศูนย์การเรียน
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 376) กล่าวว่า การสอนโดยศูนย์การเรียนเป็นวิธีสอนที่ผู้สอนต้องใช้เวลาในการเตรียมการมาก กล่าวคือ ต้องจัดเตรียมชุดการเรียนการสอน จัดวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมก่อนสอนเป็นวิธีสอนที่ต้องใช้สื่อ และวัสดุต่างๆ จำนวนมาก ใช้งบประมาณมาก
               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 169) กล่าวถึง ข้อจำกัดของการสอนแบบศูนย์การเรียน ว่าผู้สอนต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการจัดทำชุดการสอนการให้กลุ่มผู้เรียนหมุนเวียนกันเรียนในแต่ละศูนย์ อาจไม่เป็นไปตามลำดับขั้นของหลักสูตร
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 57) กล่าวว่า ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน คือ
               1. ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเสียเวลาในการสร้างชุดการสอน
               2. ความรู้ที่ได้จากชุดการสอนอยู่ในวงจำกัด
               3. ไม่เหมาะกับเนื้อหาบางวิชา เช่น วิชาที่ปฏิบัติแล้วอาจเกิดอันตราย เช่น การทดลอง
ทางวิทยาศาสตร์
               สามารถ คงสะอาด (2535 : 50) กล่าวถึง ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนไว้ ดังนี้
               1. การผลิตชุดการสอนจะต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมาก
               2. ชุดการสอนมีขอบเขตจำกัด ไม่สามารคลุมเนื้อหาได้หมด
               3. การผลิตชุดการสอนที่มีประสิทธิภาพ ครูส่วนใหญ่ยังทำได้ยาก

               สรุปข้อจำกัดของการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนที่น่าสนใจได้ดังนี้
               1. ต้องใช้สื่อการสอนเป็นจำนวนมาก ทำให้ใช้งบประมาณมาก
               2. ผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมสื่อการสอนเป็นอย่างดี
               3. ในการหมุนเวียนไปศูนย์ต่างๆ อาจเกิดความวุ่นวายได้
               4. ผู้เรียนได้ความรู้ในวงจำกัด
               5. เป็นการสอนที่ไม่เหมาะสมกับเนื้อหาบางวิชา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น









สรุปท้ายบท

               วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ครูจัดผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย โดยให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาจากบทเรียนที่ผู้สอนได้จัดเตรียมไว้ให้ด้วยตนเอง โดยเน้นกิจกรรมการเรียนสื่อการเรียนการสอนที่เป็นชุดการสอน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ โดยแต่ละกลุ่มจะต้องหมุนเวียนเรียนจนครบทุกศูนย์  ซึ่งการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ มุ่งให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ฝึกให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม มีความรับผิดชอบและสามารถปฏิบัติงานภายในกรอบตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้
               สำหรับองค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมี 4 ประการด้วยกัน คือ 1. บทบาทของผู้สอน โดยผู้สอนจะต้องมีการกำกับงาน ประสานกิจกรรม พร้อมด้วยการบันทึกการพัฒนาของผู้เรียนตามความจริง 2. บทบาทของผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนจะต้องเข้าใจการปฏิบัติกิจกรรมตามที่ผู้สอนได้ให้คำแนะนำไว้และต้องให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี  3.ชุดการสอน ประกอบไปด้วยชุดคู่มือครู แบบฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เรียน สื่อการสอนสำหรับทุกศูนย์พร้อมด้วยแบบทดสอบของผู้เรียนทั้งก่อนและหลังเรียน โดยทั่วไปชุดการสอนมี 3 ชนิด คือ 1) ชุดการเรียนการสอนรายบุคคล 2) ชุดการเรียนการสอนสำหรับกิจกรรมกลุ่ม และ 3) ชุดการเรียนการสอนประกอบการบรรยาย  และการจัดห้องเรียน เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งผู้สอนสามารถจัดได้ตามความสะดวกและตามความสนใจของผู้เรียน
               ในส่วนของขั้นตอนการเรียนการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ
               1. ขั้นประเมินก่อนเรียน โดยผู้สอนทำการทดสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนการเรียน ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที
               2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน  ผู้สอนใช้การเล่า อธิบายบทเรียน หรือใช้คำถามเพื่อดึงดูดความสนใจ
               3. ขั้นกิจกรรม  ผู้สอนกำหนดผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประจำศูนย์การเรียนแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนปฏิบัติตามคำสั่งที่ผู้เรียนกำหนดไว้ โดยให้ผู้เรียนหมุนเวียนจนครบทุกศูนย์ แต่ถ้ากลุ่มใดเสร็จก่อนก็ให้เข้าประจำกลุ่มสำรอง
               4. ขั้นสรุป  เป็นขั้นที่ผู้สอนสรุปบทเรียนทั้งหมดหลังจากที่ผู้เรียนเรียนจนครบทุกศูนย์
               5. ขั้นประเมินผล  ผู้สอนทดสอบผู้เรียนหลังการเรียนรู้ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนหลัง
               สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน คือ ผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่จัดเตรียมชุดการสอนให้พร้อม ในการสอนผู้สอนก็จะต้องชี้แจงและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน จัดสถานที่สำหรับผู้เรียนให้พร้อม อีกทั้งยังต้องให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้เรียนในขณะสอน และประเมินผลการเรียนของผู้เรียนทั้งก่อนและหลังเรียนด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สอนจะต้องมีความพร้อม ความรู้ และความถนัดในการสอนพอสมควร เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด
               ถึงแม้ว่าวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนจะมีความยุ่งยากในการเรียน เพราะผู้สอนจะต้องชี้แจงรายละเอียดให้ผู้เรียนทราบอย่างถ่องแท้เสียก่อน แต่ก็ยังข้อดีหลายประการคือ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการใฝ่รู้  ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ส่งเสริมความรับผิดชอบให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน สามารถทราบผลการเรียนได้ทันที อีกทั้งช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครูและเป็นการเรียนที่สามารถใช้กับกลุ่มผู้เรียนจำนวนมากได้ แต่การสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนก็มีข้อจำกัดอีกเช่นกัน คือ เป็นการเรียนที่ต้องใช้สื่อการสอนที่ใช้งบประมาณมาก ผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมสื่อการสอนเป็นอย่างดี ซึ่งบางครั้งอาจเกิดความวุ่นวายในการหมุนเวียนไปศูนย์ต่างๆ ได้  ผู้เรียนได้ความรู้ในวงจำกัด และเป็นอาจไม่เหมาะสมกับเนื้อหาบางวิชา เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์  เป็นต้น

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

               1. จงอธิบายความหมายของ  วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนตามความคิดเห็นของท่าน
               2. ลักษณะสำคัญของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีอะไรบ้าง
               3. จงอธิบายจุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
               4. วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง จงอธิบาย
               5. วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง  จงอธิบาย
               6. ท่านจะมีเทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง
               7. จงอธิบายข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน มาพอสังเขป
               8. ให้ท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน ว่าเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเหตุใด
               9. ให้ท่านสังเกตการสอนและศึกษาการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนของครูที่มีความเชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมการสอนของครู  เพื่อไว้ใช้เป็นแบบอย่าง
              10. ให้ท่านทดลองฝึกสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนแล้วให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำติชม หรืออาจบันทึกวีดีทัศน์ไว้วิเคราะห์การสอนของตนเองก็ได้


No comments:

Post a Comment