สถานการณ์จำลอง

บทที่ 8
วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง (Simulation Technique)

               หากจะกล่าวถึงว่า วิธีสอนใดที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด แน่นอนนั่นคือการสอนที่ให้ผู้เรียนได้สัมผัสการของจริงหรือสถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะการที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงนั้น จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ยาวนานและเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ แต่ถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นจริงได้  การเรียนการสอนที่ใช้สถานการณ์จำลองก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับการเรียนที่สะท้อนความเป็นจริง ตามจุดมุ่งหมายที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ 
               ซึ่งในบทนี้กล่าวถึงหมาย ของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง จุดมุ่งหมาย องค์ประกอบ ขั้นตอนการสอน  จุดเด่นและจำกัดของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง พร้อมทั้งการสรุปเนื้อหาท้ายบทและมีคำถามและกิจกรรมท้ายบทด้วย

ความหมาย
               นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ไว้คล้ายคลึงกัน ดังนี้     
ทิศนา  แขมมณี (2550 : 370) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนลงไปเล่นในสถานการณ์ที่มีบทบาท ข้อมูล และกติกาการเล่น ที่สะท้อนความเป็นจริง และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสถานการณ์นั้น โดยใช้ข้อมูลที่มีสภาพคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริง ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งการตัดสินใจนั้นจะส่งผลถึงผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง 
เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 370) อธิบายว่า การใช้สถานการณ์จำลอง เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เพื่อฝึกให้ผู้เรียนตัดสินในแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดอย่างอิสระ และมีส่วนร่วมหรือบทบาทในสถานการณ์นั้นๆ ราวกับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ซึ่งนับว่าเป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก 
               ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 76) กล่าวว่า การสร้างสถานการณ์จำลอง คือ การจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริง ให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงมากที่สุด และให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น  
                ไสว ฟักขาว (2544 : 122) กล่าวว่า วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองเป็นการจัดการเรียนการสอนที่พยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด โดยการสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นในห้องเรียนแล้วให้ผู้เรียนแสดงบทบาทของตนเองตามสถานการณ์นั้นๆ
               จากความหมายของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองทั้งหมดที่นักวิชาการได้กล่าวมา สรุปได้ว่า  การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนใช้ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนจัดสถานการณ์ขึ้นเลียนแบบของจริง โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการแก้ปัญหา ได้ใช้ทักษะกระบวนการคิดและการตัดสินใจจากสถานการณ์นั้นๆ  โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในบทบาทหรือในสถานการณ์นั้นๆ ให้มากที่สุด

ความมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง
               สถานการณ์จำลองเป็นเหตุการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบสถานการณ์จริง  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนให้เกิดความรู้และทักษะที่เกิดจากการได้ปฏิบัติหรือเผชิญในสถานการณ์จำลองนั้นๆ ดังรายละเอียดที่นักการศึกษาท่านให้ข้อคิดเห็นไว้ ดังนี้
   ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 223-224) ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของการใช้วิธีสอนนี้คือ มุ่งฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการใช้ทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนภาคทฤษฎีไปแล้วก่อนเข้าสู่สถานการณ์จริง เพราะในสถานการณ์จริงอาจมีปัญหาด้านผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในกรณีที่เกิดผิดพลาด นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากสถานการณ์ การกล้าแสดงออกอันจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่สถานการณ์จริงต่อไป
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 370) กล่าวว่า  วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สภาพความเป็นจริงและเกิดความเข้าใจในสถานการณ์หรือเรื่องที่มีตัวแปรจำนวนมากทีมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน 
             เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 271) กล่าวว่า การสอนแบบสถานการณ์จำลอง มีจุดมุ่งหมาย คือ
               1. เพื่อให้ผู้เรียนได้พบและรู้จักแก้ปัญหาในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
อย่างมีประสิทธิภาพ
               2. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักหัดคิดสามารถนำเหตุผลมาอภิปราย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินแก้ปัญหา
               3. เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาในการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ อดทนต่อการถูกวิจารณ์ มีวินัยในตนเอง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สำนึกในสิทธิของตนเองและผู้อื่น
               4. เพื่อเป็นการเปลี่ยนกิจกรรมการสอนจากการสอนจากการยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลางมาเป็นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
            และ อินทิรา  บุณยาทร  (2542 : 102) อธิบายว่า ความมุ่งหมายของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ประกอบด้วย
               1. เพื่อฝึกการคิดวินิจฉัยแก้ปัญหา การควบคุมสถานการณ์ การตัดสินใจในสถาน
การณ์ที่ผู้เรียนอาจต้องพบในชีวิตจริง
               2. เพื่อฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่ม การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การมีวินัยในตนเอง
               3. เพื่อฝึกความกล้าของผู้เรียน ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีในการแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต
               สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพคล้ายความเป็นจริง มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญดังนี้ คือ
               1. ให้ผู้เรียนรู้จักการใช้ทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนภาคทฤษฎีไปแล้วก่อนเข้าสู่สถานการณ์จริง
               2. มุ่งฝึกการคิดวินิจฉัยแก้ปัญหา การควบคุมสถานการณ์ การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ผู้เรียนอาจต้องพบในชีวิตจริง
               3. มุ่งฝึกการใช้ทักษะด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น กระบวนการคิด การมีส่วนร่วมในการเรียน เป็นต้น
               4. มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสถานการณ์คล้ายความเป็นจริง
               5. มุ่งให้ผู้เรียนได้พบและรู้จักแก้ปัญหาในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               6. มุ่งให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กล้าคิดกล้าทำมากยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สถานการณ์จริง
               7. มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักทำงานเป็นกลุ่ม ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ และฝึกความอดทน
องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง

               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 370) กล่าวถึงการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
               1. มีผู้สอนและผู้เรียน
               2. มีสถานการณ์ ข้อมูล บทบาทและกติกา ที่สะท้อนความเป็นจริง
                  3. ผู้เล่นในสถานการณ์มีปฏิสัมพันธ์กันหรือมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ในสถานการณ์นั้น
               4. ผู้เล่นหรือผู้สวมบทบาทมีการใช้ข้อมูลที่ให้ในการตัดสินใจ
               5. การตัดสินใจส่งผลต่อผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง
               6. มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อมูล และกติกาของสถานการณ์ วิธีการ
เล่น พฤติกรรมการเล่น และผลการเล่น เพื่อการเรียนรู้
               7. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน



กระบวนการในการสร้างสถานการณ์จำลอง
               ไสว ฟักขาว (2544 : 122) กล่าวถึงกระบวนการสร้างสถานการณ์จำลอง จะต้องประกอบไปด้วย
               1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
               2. คัดเลือกสถานการณ์ที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียน
               3. กำหนดโครงสร้างของสถานการณ์ซึ่งประกอบด้วย
·      การจัดสถานการณ์ให้เหมือนจริง
·      บทบาทของผู้ร่วมกิจกรรม
·      ลำดับขั้นตอนของสถานการณ์และปัญหาจากสถานการณ์
·      การอภิปรายและสรุปหลังการใช้สถานการณ์จำลอง

               นอกจากนี้ วิธีการเสนอสถานการณ์จำลอง  การเสนอสถานการณ์จำลองอาจทำได้ดังต่อไปนี้  (เสริมศรี  ลักษณศิริ, 2540 : 272)
               1. เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
               2. ให้ดูวีดีโอหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
               3. ให้ดูภาพซึ่งลำดับตามเหตุการณ์หรือดูภาพแล้วเล่าประกอบ
               4. ให้ดูจากสถานที่ที่ตกแต่งให้เหมือนสถานที่จริงและมีผู้แสดงบทบาทด้วย
               5. ให้ดูจากเกมจำลองสถานการณ์ หรือให้ดูจากการแสดงบทบาทสมมุติหรือจากการแสดงนาฏการ

ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง
             ทิศนา  แขมมณี (2550 : 371-372) ได้แนะนำไว้ว่า ขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มี 1) การเตรียมการ 2) การนำเสนอสถานการณ์จำลอง 3) การเลือกบทบาท  4) การเล่นในสถานการณ์จำลอง  และ5) การอภิปราย 
               ไสว ฟักขาว (2544 : 122) ได้เสนอขั้นตอนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
             ขั้นที่ 1 :  ขั้นปฐมนิเทศ
               ขั้นที่ 2 :  ขั้นแสดงบทบาทตามสถานการณ์
               ขั้นที่ 3 :  ขั้นอภิปราย
               ขั้นที่ 4 :  ขั้นสรุปและประเมินผล

               ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 224) กล่าวว่า ขั้นตอนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มี 3 ขั้นตอนดังนี้
             1. ขั้นเตรียม
               2. ขั้นสอน
               3. ขั้นสรุปอภิปรายผล
             อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 102-103) กล่าวว่า ขั้นตอนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ต้องประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
             1. ขั้นเตรียมการสอน
                     1.1 กำหนดจุดประสงค์     
         1.2 กำหนดสถานการณ์จำลอง 
               2. ขั้นตอนดำเนินการสอน
                     1.1 ผู้สอนเสนอสถานการณ์จำลองโดยอาจใช้วิธีต่อไปนี้
                     1.2  ผู้เรียนศึกษาปัญหาและหาแนวทางที่จะแก้ปัญหา อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยร่วมกันแสดงความคิดเห็น
                     1.3  ผู้เรียนเสนอแนวทางแก้ปัญหา
               3. ขั้นตอนอภิปรายและสรุปผล
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 271) อธิบายขั้นตอนของการสอนแบบใช้สถานการณ์จำลอง จะต้องประกอบไปด้วย
             1. ขั้นนำ
               2. ขั้นการเข้าร่วม       
               3. ขั้นแสดง 
               4. ขั้นอภิปราย 
               5. ขั้นสรุปและประเมินผล
 
               จากที่นักวิชาการได้กำหนดขั้นตอนของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง สรุปได้ว่ามีขั้นตอนที่สำคัญ คือ ขั้นเตรียมการสอน  โดยผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดสถานการณ์  เตรียมอุปกรณ์สำหรับผู้เรียน รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์และกติกาให้พร้อม ขั้นดำเนินการสอน  เป็นขั้นที่ผู้สอนเริ่มเสนอสถานการณ์ให้กับผู้เรียน โดยผู้สอนจะต้องให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ต่างๆ ได้มากที่สุดและขั้นอภิปรายและสรุปผล  ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสรุปและอภิปรายบทเรียน หลังจากจบการจำลองสถานการณ์
               1. ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง
               มีนักวิชาการได้ กล่าวถึง ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองไว้คล้ายคลึงกัน ดังนี้
                              ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 371-372) กล่าวว่า การเตรียมการ ผู้สอนเตรียมสถานการณ์จำลองที่จะใช้สอน โดยอาจสร้างขึ้นเองเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยตรง ซึ่งถ้าจะสร้างขึ้นเอง ผู้สร้างจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการสร้าง รวมทั้งมีประสบการณ์ในสถานการณ์นั้นในความเป็นจริงหรือผู้สอนอาจเลือกสถานการณ์จำลองที่มีผู้สร้างไว้แล้ว หากตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการสถานการณ์จำลองที่วางจำหน่ายมีจำนวนไม่น้อย ผู้สอนสามารถศึกษาได้จากรายการและคำอธิบายซึ่งจะบอกวัตถุประสงค์และลักษณะของสถานการณ์จำลองไว้ สถานการณ์จำลองโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ เป็นสถานการณ์จำลองแท้ กับสถานการณ์จำลองแบบเกม หรือที่เรียกว่า เกมจำลองสถานการณ์ สถานการณ์จำลองแท้ จะเป็นสถานการณ์การเล่นที่ให้ผู้เรียนได้เล่น เพื่อเรียนรู้ความจริง เช่น ผู้สอนอาจจำลองสถานการณ์นั้นในการตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนเกมจำลองสถานการณ์ มีลักษณะเป็นเกมการเล่น แต่เกมการเล่นนี้มีลักษณะที่สะท้อนความเป็นจริง ในขณะที่เกมธรรมดาทั่วๆ ไป อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงอะไรเกมจำลองสถานการณ์นี้มีอยู่ 2 ประเภทคือ เป็นเกมจำลองสถานการณ์แบบไม่มีการแข่งขัน เช่น เกมจำลองสถานการณ์การเลือกตั้ง เกมจำลองสถานการณ์การเลือกอาชีพ และเกม จำลองสถานการณ์การเลือกตั้ง เกมจำลองสถานการณ์การเลือกอาชีพ และเกมจำลองสถานการณ์แบบมีการแข่งขัน เช่น เกมจำลองสถานการณ์มลภาวะเป็นพิษ เกมจำลองสถานการณ์การค้าขาย เป็นต้น
               เมื่อมีสถานการณ์จำลองแล้ว ผู้สอนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในสถานการณ์จำลองนั้น และควรลงเล่นด้วยตนเอง เพื่อจะได้ทราบถึงอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ ในการเล่น จะได้จัดเตรียมการป้องกันหรือแก้ไขไว้ให้พร้อม เพื่อช่วยให้การเล่นเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น ต่อจากนั้นจึงจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการเล่นไว้ให้พร้อม รวมทั้งการจัดสถานที่เล่นให้เอื้ออำนวยต่อการเล่น
               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 102) กล่าวว่า ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีรายละเอียด ดังนี้
               1. กำหนดจุดประสงค์ ผู้สอนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า มุ่งหมายให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง การกำหนดจุดประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยให้การสร้างสถานการณ์จำลองง่ายขึ้น
               2. กำหนดสถานการณ์จำลอง  ผู้สอนต้องพิจารณาเลือกสถานการณ์ที่เป็นจริงในสังคมมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และต้องเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ วินิจฉัย ตัดสินใจที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่เป็นการก่อให้เกิดการเรียนรู้และทักษะที่ต้องการ
               3. กำหนดโครงสร้างของสถานการณ์จำลอง ซึ่งประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
                     3.1 กำหนดจุดประสงค์ของสถานการณ์จำลอง
                     3.2 กำหนดบทบาทของผู้ร่วมกิจกรรมแต่ละคน
                     3.3 เตรียมข้อมูล เนื้อหา
                     3.4 กำหนดสถานการณ์ต่างๆ ให้เหมือนจริงในสังคม
                     3.5 ลำดับขั้นของเหตุการณ์ เวลา และปัญหาจากสถานการณ์
               4. กำหนดและจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ให้พร้อม

               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 271) อธิบายขั้นตอนแรกของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง จะต้องประกอบไปด้วย ขั้นนำ ซึ่งผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งปัญหาแนะนำผู้เรียนให้รู้จักหลักเกณฑ์พื้นฐานและข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ แนะนำวิธีการเรียน วัตถุประสงค์ วิธีแสดง เตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็น และต่อมาเป็น ขั้นการเข้าร่วม โดยแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย กำหนดบทบาท คัดเลือกผู้แสดงบอกกติกา วิธีการแสดงและการให้คะแนน
               สรุปได้ว่า ขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองนั้น ผู้สอนควรเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดสถานการณ์  เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน รวมถึงกำหนดบทบาท กฎเกณฑ์และกติกาให้พร้อม เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมได้ทราบและบรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
             2. ขั้นดำเนินการสอน 
               ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 372) ในขณะที่ผู้เรียนกำลังเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น ผู้สอนควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมการเล่นของผู้เรียน และจดบันทึกข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนไว้ นอกจากนั้นต้องคอยดูแลให้การเล่นดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด ให้คำปรึกษาตามความจำเป็น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 102) กล่าวถึง ขั้นดำเนินการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ไว้ ดังนี้
               1. ผู้สอนเสนอสถานการณ์จำลองโดยอาจใช้วิธีต่อไปนี้
                     1.1 เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
         1.2 ให้ดูรูปภาพแล้วเล่าประกอบ
                     1.3 ให้ดูภาพยนตร์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
                     1.4 ให้ดูจากฉากที่จัดไว้ และมีผู้แสดงบทบาทประกอบ
                2. ผู้เรียนศึกษาปัญหาและหาแนวทางที่จะแก้ปัญหา อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยร่วมกันแสดงความคิดเห็น
                3. ผู้เรียนเสนอแนวทางแก้ปัญหา

                เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 271) อธิบาย ขั้นดำเนินการสอนของการสอนแบบใช้สถานการณ์จำลองว่า ผู้เรียนเริ่มแสดงตามข้อตกลง ผู้สอนมีหน้าที่แนะนำและดูแลให้การแสดงดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ ผู้สอนอาจสังเกตแล้วบันทึกพฤติกรรมผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำมาวิเคราะห์สำหรับการแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ต่อไป
               3. ขั้นตอนอภิปรายและสรุปผล
               ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 371-372) กล่าวว่า เนื่องจากการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองเป็นการสอนที่มุ่งช่วยผู้เรียนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงที่สถานการณ์นั้นจำลองขึ้นมา ดังนั้นการอภิปรายจึงควรมุ่งประเด็นไปที่การเรียนรู้ความเป็นจริงว่า ในความเป็นจริง สถานการณ์เป็นอย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งผู้เรียนมักได้เรียนรู้จากการเล่นของตนในสถานการณ์นั้น จึงทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้เรียนรู้ความเป็นจริงแล้ว การอภิปรายอาจขยายต่อไปว่า เราควรจะให้สถานการณ์นั้นคงอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้
               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 103) กล่าวถึง ขั้นตอนอภิปรายและสรุปผลของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองไว้ว่า ขั้นอภิปรายและสรุปผลเป็นขั้นตอนจะต้องร่วมกันอภิปรายโดยพยายามค้นหาว่าอะไรเกิดขึ้น หรือทำไมจึงเกิดสภาพนั้น การอภิปรายจะช่วยผู้สอนในการประเมินผลว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์หรือล้มเหลว หรือมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อจะใช้สถานการณ์จำลองนั้นซ้ำอีกที่สำคัญที่สุดในการสอน เพราะทุกฝ่าย
   เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 273) อธิบายขั้นตอนอภิปรายและสรุปผลของการสอนแบบใช้สถานการณ์จำลองไว้ว่า ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสรุปเหตุการณ์ความคิดเห็น เปรียบเทียบประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากสถานการณ์จำลองกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เชื่อมโยงกิจกรรมที่ปฏิบัติไปสู่เนื้อหาวิชาที่เรียน ตลอดจนสรุปวิธีการที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลบทเรียนพร้อมทั้งเสนอแนะการปรับปรุงบทเรียนต่อไป

จุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง
             มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอแนะถึงจุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ไว้ดังนี้
    อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 103) กล่าวว่า การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองมีจุดเด่น ดังนี้
               1. เป็นวิธีที่ดึงดูดความสนใจ จูงในให้เกิดความพยายาม และเกิดความสนุกสนานในการเรียน
                  2. ฝึกผู้เรียนให้เคารพในกฎ กติกา การมีน้ำใจเป็นนักกีฬา การทำงานเป็นกลุ่ม
               3.ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ เรียนรู้การตัดสินใจ เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา นับเป็นวิธีเรียนที่ได้ความรู้แบบคงทน
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างจริงจัง
               5. เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับผู้เรียนที่มีแรงจูงใจต่ำ
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 272) กล่าวว่า จุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ประกอบด้วย
   1. เป็นการถ่ายทอดความรู้อย่างมีระบบ
               2. เปลี่ยนบทบาทของครูจากผู้สอนมาเป็นเพียงผู้แนะแนวทาง
               3. เป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นแนวทางในการตัดสินปัญหาอื่นๆ ต่อไป
               4. ช่วยให้ผู้เรียนได้เผชิญปัญหามากมายในระยะเวลาอันจำกัด
               5. ส่งเสริมการแสดงออกทางท่าทางประกอบการแสดงและการพูด
               6. ช่วยพัฒนาความรู้สึกและทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อผู้อื่น
               7. ช่วยพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
               8. ช่วยให้ปัญหาที่ยุ่งยากเป็นปัญหาที่ง่ายขึ้น การตัดสินปัญหาแม้จะผิดพลาดก็ไม่ทำให้เกิดผลเสียหาย
               9. ช่วยให้ผู้เรียนได้พบกับสภาพการณ์ก่อนที่จะเกิดในชีวิตจริง และทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียน
                  10.   ช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัว ให้ความร่วมมือโดยไม่คิดถึงการแข่งขัน และกล้าแสดงความคิดเห็น
               11. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียน ทำให้เกิดความสนุกสนานร่าเริง


             ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 224-225) อธิบายว่า จุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีดังนี้
               1. ทำให้เข้าใจสถานการณ์จริงได้ก่อนปฏิบัติงานจริง
               2. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการกล้าแสดงออกของผู้เรียน
               3. ฝึกการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้สอน
               4. ช่วยนำสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติจริงมาฝึกได้ก่อนใช้ทักษะขั้นสูง
ในสถานการณ์จริงต่อไป
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 373) กล่าวว่า จุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีดังนี้
               1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อนได้อย่างเข้าใจ เกิดความเข้าใจ เนื่องจากได้มีประสบการณ์ที่เห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง
               2. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สูงมาก ผู้เรียนได้เรียนอย่าง
สนุกสนาน การเรียนรู้มีความหมายต่อตัวผู้เรียน
               3. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะกระบวนการต่างๆ จำนวนมาก เช่น
กระบวนการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กระบวนการสื่อสาร กระบวนการตัดสินใจ กระบวนการแก้ปัญหา และกระบวนการคิด เป็นต้น
               จากการที่นักวิชาการ สรุปจุดเด่นของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ได้ดังนี้
               1. เป็นการสอนที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน เกิดความสนุกสนาน
               2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม ซึ่งต้องเคารพในกติกาการเรียน
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม
               4. ส่งเสริมการแสดงออก และท่าทางการพูด
               5. พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา กล้าตัดสินใจ
               6. เป็นการเรียนที่ทำให้ผู้เรียนตื่นตัว กล้าแสดงความคิดเห็น
               7. ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ง่าย ประจักษ์ด้วยตนเอง

             ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง
             ทิศนา  แขมมณี (2550 : 373) กล่าวถึง ข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ไว้ ดังนี้
               1. เป็นวิธีสอนที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องมีวัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลสำหรับผู้เล่น
ทุกคน และสถานการณ์จำลองบางเรื่องมีราคาแพง
                  2. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามาก เพราะต้องให้เวลาแก่ผู้เล่นในการเล่นและการอภิปราย
               3. เป็นวิธีสอนที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมการมาก ผู้สอนต้องศึกษารายละเอียด และลองเล่นด้วยตนเอง และในกรณีที่ต้องสร้างสถานการณ์เอง ยิ่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น
               4. เป็นวิธีสอนที่ต้องพึ่งสถานการณ์จำลอง ถ้าไม่มีสถานการณ์จำลองที่ตรงกับ
วัตถุประสงค์หรือความต้องการ ผู้สอนต้องสร้างขึ้นเอง ถ้าผู้สอนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการสร้างสถานการณ์เพียงพอ ก็จะไม่สามารถสร้างได้
               5. เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เล่นและแสดงออกอย่างหลากหลาย จึงเป็น
การยากสำหรับผู้สอนในการนำการอภิปรายให้ไปสู่การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 103) กล่าวว่า การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองมี ข้อจำกัด
ดังนี้
               1. สถานการณ์จำลองไม่ใช่สถานการณ์จริง จึงเป็นสถานการณ์ที่ง่ายกว่าสถานการณ์จริง
               2. ผู้สอนต้องใช้เวลาในการเตรียมสร้างสถานการณ์ และมักจะได้ผลไม่คุ้มทุน ผู้สอนจึงไม่นิยมทำ
   3. ถ้ามีความซับซ้อนผู้เรียนจะสับสน ถ้าง่ายไปผู้เรียนก็เบื่อหน่าย
   4. ไม่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคล
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 272) กล่าวถึง ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ประกอบไปด้วย
               1. การแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับสถานการณ์จริงๆ โดยใช้สถานการณ์จำลอง เป็นการยกที่จะทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
               2. บางครั้งการแสดงไปกระทบกระเทือนใจผู้เรียนบางคน ทำให้ผู้เรียนไม่กล้าแสดง
  ความรู้สึกที่แท้จริงจากข้อ 2 อาจทำให้การเรียนการสอนไม่บรรลุตามที่คาดหวังไว้            
               ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 224-225) อธิบายว่า ข้อจำกัดของวิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีดังนี้
               1. ต้องใช้เวลามากในการเตรียม
               2. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก
                  3.  ต้องอาศัยความสามารถและการตัดสินใจของผู้สอนที่มีทักษะและประสบการณ์
               4. ถ้าควบคุมไม่ดีจะไม่ได้ผลตามบทเรียนที่ต้องการ        

               จากการที่นักวิชาการได้กล่าวถึงข้อจำกัดของการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองไว้ สรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้
               1. ค่าใช้จ่าย ต้องใช้เวลาในการสร้างสถานการณ์ จึงมักได้ผลไม่คุ้มทุน
               2. ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนจะทำให้ผู้เรียนสับสน แต่ถ้าง่ายเกิดไปผู้เรียนก็เบื่อหน่าย
               3. ถ้าผู้สอนไม่สามารถคุ้มสถานการณ์ได้จะทำให้ไม่ได้ผลตามต้องการ
               4. ผู้สอนจะต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวมาก
               5.เป็นการสอนที่ยากสำหรับผู้สอนที่จะนำการอภิปรายไปสู่การเรียนได้ตามวัตถุประสงค์

สรุปท้ายบท
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนใช้ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนจัดสถานการณ์ขึ้นเลียนแบบของจริง โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการแก้ปัญหา ได้ใช้ทักษะกระบวนการคิดและการตัดสินใจจากสถานการณ์นั้นๆ  โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในบทบาทหรือในสถานการณ์นั้นๆ ให้มากที่สุด
               การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพคล้ายความเป็นจริง มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญดังนี้ คือ 1) ให้ผู้เรียนรู้จักการใช้ทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนภาคทฤษฎีไปแล้วก่อนเข้าสู่สถานการณ์จริง  2) มุ่งฝึกการคิดวินิจฉัยแก้ปัญหา การควบคุมสถานการณ์ การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ผู้เรียนอาจต้องพบในชีวิตจริง 3) มุ่งฝึกการใช้ทักษะด้านต่างๆ  ที่สำคัญ เช่น กระบวนการคิด การมีส่วนร่วมในการเรียน เป็นต้น 4) มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสถานการณ์คล้ายความเป็นจริง  5) มุ่งให้ผู้เรียนได้พบและรู้จักแก้ปัญหาในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  6) มุ่งให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กล้าคิดกล้าทำมากยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สถานการณ์จริง และ 7) มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักทำงานเป็นกลุ่ม ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ และฝึกความอดทน

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

               1. จงอธิบายความหมายของ วิธีสอนโดยใช้ใช้สถานการณ์ ตามความคิดเห็นของท่าน
               2. วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่ออะไรบ้าง
               3. องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง
4. หากท่านต้องใช้วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ท่านจะมีขั้นตอนในการสอน
อย่างไร
               5. ให้ท่านเสนอเทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มาพอสังเขป
               6. ท่านคิดว่า วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง มีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง
จงอธิบาย
               7. หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ครูให้คัดเลือกวิธีสอน ท่านจะใช้วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์
 จำลองหรือไม่  เพราะเหตุใด
               8. ให้ท่านสังเกตการสอนและศึกษาการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองของครูที่มีความเชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมการสอนของครู  เพื่อไว้ใช้เป็นแบบอย่าง
               9. ให้ท่านทดลองฝึกสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองแล้วให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำติชม หรืออาจบันทึกวีดีทัศน์ไว้วิเคราะห์การสอนของตนเองก็ได้

No comments:

Post a Comment