สาธิต

วิธีสอนโดยใช้การสาธิต (Demonstration Method)
            
               หากว่าการจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนเสนอแบบอย่างให้ผู้เรียนได้เห็นแล้วจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการสอนแบบธรรมดาได้นั้น การสอนโดยใช้วิธีการสาธิต ก็นับว่าเป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนสามารถนำไปเป็นวิธีการสอนให้กับผู้เรียนได้เช่นกัน เพราะการสาธิตเป็นการแสดงแบบหนึ่งที่ผู้เรียนได้เห็นและเข้าใจจากเรื่องราวที่เป็นจริง ได้สังเกตจากตัวอย่างที่ผู้เรียนได้นำเสนอ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น
               ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 228) ได้กล่าวถึงธรรมชาติของการสอนแบบนี้ว่ายังเป็นการสอนที่เน้นผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนน้อยเพราะเพียงสังเกตสิ่งที่ครูแสดงขึ้นเท่านั้น แต่การสอนแบบนี้มีประโยชน์มากสำหรับการนำประสบการณ์ที่ซับซ้อนอธิบายได้ยากมาแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยผู้มีประสบการณ์ ช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการสอนวิธีนี้อยู่ที่ความสามารถในการสาธิตของผู้สาธิตด้วย ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าการสอนแบบสาธิตสามารถนำไปใช้ร่วมกับการสอนวิธีอื่น ๆ ได้หลายวิธีในทุก ๆ ส่วนของกิจกรรมการเรียนการสอน
               ในบทนี้กล่าวถึง ความหมายของการสอนโดยใช้การสาธิต จุดมุ่งหมาย องค์ประกอบ ขั้นตอนการสอน เทคนิคและข้อเสนอแนะการสอน และข้อดีและข้อจำกัดของการสอน พร้อมด้วยการสรุปบทเรียนท้ายบท และกิจกรรมคำถามท้ายบทด้วย

ความหมาย
             สำหรับความหมายของวิธีสอนโดยใช้การสาธิต ได้มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้ดังนี้
              ทิศนา แขมมณี (2550 : 330) กล่าวว่า วิธีสอนโดยใช้การสาธิต คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการแสดงหรือทำสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ให้ผู้เรียนสังเกตดูแล้วให้ผู้เรียนซักถาม อภิปราย และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสังเกตการสาธิต 
              สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 78) กล่าวว่า การสอนแบบสาธิต คือ การแสดงหรือกระทำพร้อม ๆ กับการบอกหรืออธิบายเพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงในเชิงรูปธรรมซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจมโนมติและหลักการได้ดีขึ้น
              อินทิรา บุณยาทร (2542 : 87) ได้อธิบายว่า การสาธิต คือ วิธีสอนที่ผู้สอนหรือวิทยากรแสดงหรือกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อม ๆ กับการบอก อธิบายเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงในเชิงรูปธรรม ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตกระบวนการ ขั้นตอนสาธิตนั้น ๆ

               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 142) ได้กล่าวว่า วิธีสอนแบบสาธิต หมายถึง วิธีการสอนที่ผู้สอนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (อาจเป็นวิทยากรที่ผู้สอนเชิญมา) แสดงหรือกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อม ๆ กับการบอก อธิบาย เพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงในเชิงรูปธรรม ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตกระบวนการขั้นตอนการสาธิตนั้น ๆ 
               ไสว ฟักขาว (2544 : 98)  อธิบายการสาธิตเป็นการแสดงให้ดู ซึ่งอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงขั้นตอน วิธีการ ผลที่จะเกิดขึ้นหรือท่าทางต่าง ๆ โดยอาจทำในรูปของการสาธิตทดลอง หรือสาธิตปฏิบัติ วิธีสอนแบบสาธิต อาจนำไปใช้ร่วมกับวิธีสอนแบบอื่นได้   เช่น สาธิตประกอบการบรรยาย    สาธิตประกอบการอธิปราย เป็นต้น
               การสอนด้วยวิธีการสาธิต เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นการสอนนักเรียนในระดับใด โดยเฉพาะเมื่อผู้สอนพบว่าการอธิบายบทเรียนเพียงอย่างเดียวมีข้อจำกัด กล่าวคือผู้เรียนเกิดความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเนื้อหาวิชานั้น ๆ ไม่เกิดมโนมติหรือสามารถสรุปเนื้อหาที่เรียนไปแล้วได้ หลังจากที่ผู้สอนสอนเนื้อหาดังกล่าวจบแล้ว  (สิริวรรณ ศรีพหล  และ
พันทิพา อุทัยสุข, 2540 : 79)
               สรุปได้ว่า  การสอนโดยวิธีการสาธิต หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พร้อมๆ กับการบอก อธิบาย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการสังเกต แล้วให้ผู้เรียนได้ซักถาม อภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสังเกตดังกล่าว
           
จุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้การสาธิต
               นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การสาธิตไว้ดังนี้
               อินทิรา  บุณยาทร  (2542 : 88) อธิบายจุดมุ่งหมายของการสอนโดยการสาธิต ดังนี้
               1. เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้เรียนมีความสนใจในบทเรียนยิ่งขึ้น
               2. เพื่อช่วยอธิบายเนื้อหาวิชาที่ยาก ซึ่งต้องใช้เวลามาก ให้เข้าใจง่ายขึ้นและประหยัด
เวลา
               3. เพื่อให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้

             อาภรณ์   ใจเที่ยง (2550 : 143) ได้กล่าวว่า จุดมุ่งหมายในการสอนโดยการสาธิตนั้นก็เพื่อแสดงให้ผู้เรียนได้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง และสามารถปฏิบัติตามได้

             ไสว ฟักขาว (2544 : 98) ได้อธิบายว่า จุดมุ่งหมายของวิธีการสอนแบบสาธิต มีดังนี้
               1.เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิบัติในกิจกรรมบางอย่างที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยทักษะสูง
               2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นผลการทดลองที่ผู้เรียนไม่สามารถทดลองเองได้อันเนื่องจากเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่พอที่จะให้ผู้เรียนทดลองทุกคนหรือเป็นการทดลองที่มีอันตราย

               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 330) ได้กล่าวว่า วิธีสอนโดยใช้การสาธิตเป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือการปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น

               สรุปได้ว่าจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การสาธิต มีดังนี้
               1. เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนของนักเรียน
               2. เพื่อมุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือการปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น
               3. เพื่อช่วยอธิบายเนื้อหาวิชาที่ยาก ซึ่งต้องใช้เวลามาก ให้เข้าใจง่ายขึ้นและประหยัด
เวลา
               4. เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นผลการทดลองที่ผู้เรียนไม่สามารถทดลองเองได้อันเนื่องจากเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่พอที่จะให้ผู้เรียนทดลองทุกคนหรือเป็นการทดลองที่มีอันตราย

องค์ประกอบสำคัญของวิธีการสอนโดยใช้การสาธิต 
             ในการสอนโดยใช้การสาธิตนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ ดังที่ ทิศนา  แขมมณี  (2550 : 330) กล่าวไว้ดังนี้
               1. มีผู้สอนและผู้เรียน
               2. มีเรื่องหรือสิ่งที่จะสาธิต
               3. มีการแสดง/การทำ/ให้ผู้เรียนสังเกตดู
               4.มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการสาธิต

               องค์ประกอบแรกนั้นคือ ผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนต้องเตรียมสิ่งที่จะสาธิตให้พร้อมโดยคำนึงถึงการรับรู้โดยการมองเห็นของผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะในการสาธิตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ส่วนผู้เรียนก็ต้องมีทักษะในการสังเกต คิดวิเคราะห์ตามการสาธิตนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น ส่วนองค์ประกอบที่สองคือ เรื่องหรือสิ่งที่จะสาธิต ผู้สอนอาจเชิญบุคคลภายนอกหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือให้นักเรียนในชั้นเรียนเข้าร่วมในการสาธิตด้วยก็ได้ตามความเหมาะสม สำหรับองค์ประกอบที่สาม มีการแสดงหรือลงมือปฏิบัติให้นักเรียนดูนั้น ครูหรือวิทยากรต้องอธิบายประกอบไปตามขั้นตอนโดยไม่รีบเร่งจนเกินไป และสุดท้ายองค์ประกอบที่สี่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการสาธิต



ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การสาธิต
             ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การสาธิตนั้น นักวิชาการกำหนดไว้โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550: 330) ได้เสนอขั้นตอนของการสอนไว้ดังนี้
               1. ผู้สอนแสดงการสาธิต ผู้เรียนสังเกตการสาธิต
               2. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต
               3. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

               ปรีชา  คัมภีรปกรณ์ (2538 : 246) ได้เสนอขั้นตอนการสอนโดยใช้การสาธิตไว้ ดังนี้
             
               1. ขั้นเตรียมการสอน 
               2. ขั้นการสาธิต
               3. ขั้นสรุปและประเมินผล

               สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 81)  ได้เสนอแนะรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนออกมาเป็นแผนผังที่น่าสนใจ ดังนี้


1. ขั้นเตรียมการสอน
    - เตรียมบทเรียน
    - เตรียมอุปกรณ์
    - เตรียมกิจกรรมการเรียนการสอน
    - เตรียมผู้ฟัง
 


2. ขั้นการสาธิต
- บอกวัตถุประสงค์ของการสาธิต
- ทำการสาธิตตามขั้นตอน


 


3. ขั้นสรุปและการประเมินผล
             - สรุปเนื้อหา
- ถามคำถามเพื่อสอบถามความเข้าใจผู้เรียน    
             - เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามถ้าสงสัย
 
 


















แผนภาพที่  3  ขั้นตอนของการสอนด้วยวิธีการสาธิต (สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข, 2540 : 81) 
               จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่าขั้นตอนการสอนโดยใช้การสาธิตอาจแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นเตรียมการสอน  ขั้นการสาธิต  ขั้นอภิปราย สรุปและประเมินผล  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิต
               ขั้นเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิตนั้นมีลักษณะเฉพาะที่ครูผู้สอนต้องเตรียมสิ่งที่จะสาธิตให้พร้อมโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของบทเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งนักวิชาการได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 81) ได้เสนอแนะการเตรียมการสอนได้อย่างน่าสนใจว่า  ต้องเรียบเรียงและลำดับขั้นตอนของการสาธิตให้เหมาะสม โดยพิจารณาว่าสิ่งใดที่จะต้องแสดงก่อน สิ่งใดจะต้องแสดงหลัง และให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ด้วย ตอนใดควรเน้นหรือแสดงให้ดูอีกครั้งเพื่อให้การเรียนการสอนกระจ่างชัดขึ้น  นอกจากนั้นควรพิจารณาเรื่องระยะเวลาและอาจลองสาธิตดูก่อนเพื่อกะระยะเวลาให้ตามกำหนด นอกจากนี้ ต้องเตรียมอุปกรณ์ (ถ้ามี) ให้พร้อม สิ่งใดขาดหายไปต้องหาให้ครบ รวมทั้งตรวจดูความปลอดภัยของอุปกรณ์นั้นๆ ด้วยและเมื่อเตรียมกิจกรรมการเรียนการสอนพร้อมแล้ว ผู้สอนควรลองปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ  ก่อนเพื่อหาข้อบกพร่องจะได้แก้ไขก่อนนำไปสอนจริง

               สุพิน  บุญชูวงศ์  (2544 : 47) ได้เสนอขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิต ไว้ดังนี้ 
               1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสาธิตให้ชัดเจน และต้องสาธิตให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
               2. เตรียมอุปกรณ์ในการสาธิตให้พร้อม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์
               3. เตรียมกระบวนการสาธิต เช่น กำหนดเวลาและขั้นตอน จะเริ่มต้นดำเนินการและจบลงอย่างไร ผู้สาธิตต้องเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ  เหล่านี้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง
               4. ทดลองสาธิตก่อนสอน ควรทดลองสาธิตเพื่อตรวจสอบความพร้อมตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในเวลาสอน
               5. ต้องจัดทำคู่มือคำแนะนำหรือข้อสังเกตในการสาธิต เพื่อที่นักเรียนจะใช้ประกอบในขณะที่มีการสาธิต
               ชาญชัย  ยมดิษฐ์  (2548 : 221) ได้อธิบายถึงขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้วิธีการสาธิตมี อย่างสรุปไว้ดังนี้
               1. เตรียมจุดประสงค์การเรียนรู้
               2. ลำดับเนื้อหา
               3. กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
               4. กำหนดสื่อและอุปกรณ์การเรียน
               5. กำหนดเวลาและสภาพห้องเรียน
               6. ซักซ้อมการสาธิต

               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 330) กล่าวถึงการเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิตไว้ว่า การเตรียมการ ผู้สอนจำเป็นต้องมีการเตรียมการพอสมควร เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น การเตรียมตัวที่สำคัญคือ ผู้สอนควรมีการซ้อมการสาธิตก่อนเพื่อจะได้เห็นปัญหาและเตรียมแก้ไข/ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ต่อไปจึงจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และจัดวางไว้อย่างเหมาะสมสะดวกแก่การใช้ นอกจากนั้นควรจัดเตรียมแบบสังเกตการณ์สาธิต และเตรียมคำถามหรือประเด็นที่จะให้ผู้เรียนได้ร่วมคิดและอภิปรายด้วย
               สรุปได้ว่า ขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิต ผู้สอนควรได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
               1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสาธิตให้ชัดเจน และต้องสาธิตให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
               2. เตรียมอุปกรณ์ในการสาธิตให้พร้อม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์
               3. เตรียมกระบวนการสาธิต เช่น กำหนดเวลาและขั้นตอน จะเริ่มต้นดำเนินการและจบลงอย่างไร ผู้สาธิตต้องเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ  เหล่านี้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง
               4. ทดลองสาธิตก่อนสอน ควรทดลองสาธิตเพื่อตรวจสอบความพร้อมตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในเวลาสอน
               5. ควรจัดเตรียมแบบสังเกตการณ์สาธิต  และเตรียมคำถามหรือประเด็นที่จะให้ผู้เรียนได้ร่วมคิดและอภิปรายด้วย

2. ขั้นการสาธิต
             ขั้นสาธิตเป็นขั้นที่ผู้สอนได้สาธิต ได้แสดงให้ผู้เรียนได้เห็นการปฏิบัติ  ซึ่งมีสิ่งคำนึงถึงอยู่หลายประการ ดังที่นักวิชาการได้แนะนำไว้ ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 330)  กล่าวว่า ก่อนการสาธิต ผู้สอนควรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สาธิตแก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจสิ่งที่สาธิตได้ดี โดยอาจใช้วิธีบรรยาย หรือเตรียมเอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนให้ผู้เรียน หรือใช้สื่อ เช่น วีดีทัศน์  หรือผู้สอนอาจมอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาเนื้อหาสาระที่จะสาธิตมาล่วงหน้า นอกจากนั้นควรให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนในการสังเกต หรือจัดทำแบบสังเกตการณ์สาธิตให้ผู้เรียนใช้ในการสังเกตและผู้สอนอาจใช้เทคนิคการมอบหมายให้ผู้เรียนรายบุคคลสังเกตเป็นพิเศษเฉพาะจุดเฉพาะประเด็น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนตั้งใจสังเกต และมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
               ผู้สอนอาจใช้วิธีการบรรยายประกอบการสาธิต การสาธิตควรเป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน ใช้เวลาอย่างเหมาะสม ไม่เร็วเกินไป ขณะสาธิตอาจใช้แผนภูมิการดานดำหรือแผ่นใสประกอบ และควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม หรือซักถามผู้เรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นความคิดและความสนใจของผู้เรียน และในบางกรณีอาจให้ผู้เรียนบางคนมาช่วยในการสาธิตด้วย เทคนิคการสาธิตอีกเทคนิคหนึ่งคือ การใช้การสาธิตเงียบแทนการบรรยายประกอบการสาธิต และอาจมีการสาธิตซ้ำหากผู้เรียนยังไม่เกิดความเข้าใจชัดเจน นอกจากนั้นผู้สอนอาจให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายแสดงการสาธิตด้วยก็ได้ ในกรณีที่การสาธิตมีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายได้ ผู้สอนจะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้และระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย และควรเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ด้วย
               สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 81) แนะนำว่า ผู้สอนต้องบอกวัตถุประสงค์ของการสาธิตให้แก่ผู้เรียน เพื่อผู้เรียนจะได้เข้าใจว่าการเรียนการสอนนั้น ตนจะได้อะไรจากบทเรียนก่อนก็ได้ เพื่อช่วยให้ความเข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น
               ขั้นต่อไป ผู้สอนควรบอกกิจกรรมการเรียนให้แก่ผู้เรียนด้วย กล่าวคือ ระหว่างการสาธิตจะให้ผู้เรียนทำอะไร เช่น การจดบันทึก การสังเกตกระบวนการ เป็นต้น ผู้สอนควรบอกกิจกรรมให้ชัดเจน อาจเขียนเป็นคำสั่งบนกระดานก็ได้
               ผู้สอนทำการสาธิตไปตามลำดับขั้น สิ่งใดควรเน้น ควรอธิบายเพิ่มเติมก็ควรทำ และต้องมั่นใจว่าผู้เรียนในชั้นจะได้เห็นการสาธิตอย่างทั่วถึง ถ้านักเรียนสงสัยหรือมองไม่เห็นอาจแสดงให้ดูอีกครั้งถ้าไม่เสียเวลาจนเกินไปนัก
               สรุปว่า ในขั้นตอนการสาธิต ผู้สอนควรเริ่มด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสาธิต ซึ่งสามารถทำได้โดย การบรรยายใช้เอกสารประกอบ หรือใช้สื่อ วีดีทัศน์ เป็นต้น  จากนั้นจึงให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนถึงวิธีการในการสังเกต และการบันทึก  โดยมีแบบสังเกตการณ์สาธิตประกอบ  แล้วจึงเริ่มการสาธิต  ในขณะที่กำลังสาธิตผู้สอนอาจใช้การบรรยายประกอบการสาธิต  และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย  หรือซักถามผู้เรียนเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นความคิดและความสนใจของผู้เรียน  อย่างไรก็ตามการสาธิตเงียบในบางครั้งก็อาจทำให้นักเรียนมีใจจดจ่ออยู่กับการสาธิตนั้นๆ ได้
             3. ขั้นอภิปราย สรุปและประเมินผล
               สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 81) กล่าวว่า เมื่อการสาธิตสิ้นสุดลง ผู้สอนควรสรุปความสำคัญของสิ่งที่สาธิตไปนั้น อาจใช้การอธิบายสั้น ๆ ประกอบ หรืออาจให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุปเอง เพื่อประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในบทเรียนนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด
               ผู้สอนอาจใช้วิธีการสรุปโดยการถามปัญหาหรือคำถามกับผู้เรียน เกี่ยวกับสาระสำคัญของการสาธิต เพื่อประเมินดูว่าผู้เรียนเข้าใจการสาธิตนั้น ๆ อย่างไร
               หรือในบางครั้ง ผู้เรียนอาจยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลุมเครือในสิ่งที่ตนได้ดูไปในการสาธิต ผู้สอนก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามหรือแสดงความคิดเห็นภายหลังการสาธิตสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
               นอกจากนั้น ผู้สอนอาจใช้วิธีการสรุปและประเมินผลผู้เรียนในวิธีต่าง ๆ กัน เช่น ให้ผู้เรียนบางคนออกมาสาธิตสิ่งที่ได้ดูไปแล้ว เพื่อทดสอบความสามารถและความเข้าใจ หรืออาจให้ไปเขียนรายงานเกี่ยวกับกระบวนการและสิ่งที่ได้รับจากการสาธิตนั้น ๆ ก็ได้ เป็นการประเมินผลผู้เรียนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบทเรียนนั้น ๆ
             สรุปได้ว่าหลังจากการสาธิตแล้ว ผู้สอนควรให้ผู้เรียนรายงานสิ่งที่สังเกตเห็นพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดที่แต่ละคนได้รับ  และนักเรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ โดยมีครูผู้สอนให้คำแนะนำในการสรุป  ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้อาจทำได้โดยใช้คำถาม  และให้นักเรียนบางคนออกมาสาธิตสิ่งที่ดูไปแล้ว หรือการเขียนรายงานเกี่ยวกับกระบวนการหรือสิ่งที่ได้รับจากการสาธิตนั้นๆ
            
จุดเด่นของการสอนโดยใช้การสาธิต
             นักวิชาการหลายท่านกล่าวถึงจุดเด่นของการสอนโดยใช้การสาธิต ไว้อย่างน่าสนใจ  ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 331-332) ได้เสนอแนะถึงข้อดีของการสอนแบบสาธิต คือ
             1.เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงเห็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจและจะจำในเรื่องที่สาธิตได้ดีและนาน
               2. เป็นวิธีการสอนที่ช่วยประหยัดเวลา อุปกรณ์และค่าใช้จ่าย หากใช้ทดแทนการทดลอง
               3. เป็นวิธีที่สามารถสอนผู้เรียนได้จำนวนมาก

               อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 144-145) กล่าวว่า ข้อดีของการสอนโดยใช้การสาธิต มีดังนี้
               1. ประหยัดเวลาการลองผิดลองถูกของนักเรียน และประหยัดวัสดุในการสอนเมื่อสาธิตให้ดูเป็นหมู่หรือทั้งชั้น
               2. นักเรียนสามารถเข้าใจวิธีปฏิบัติได้ดี เพราะเป็นประสบการณ์ตรง มีตัวอย่างให้ดูจับต้องได้ และเห็นขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างชัดเจน
               3. เป็นการกระตุ้นการเรียนการสอน เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกิจกรรม
               4. เป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักสังเกต หาเหตุผล และสรุปหลักเกณฑ์ได้

               วไลพร คุโณทัย (2530 : 24) กล่าวว่า การสอนแบบสาธิต มีข้อดีดังนี้
                  1. การสาธิตเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากค้นหาคำตอบต่อไปได้
                  2. การสาธิตสามารถสร้างความเข้าใจในความคิดรวบยอด หลักการทฤษฎีโดยผู้เรียนสามารถมองเห็นได้โดยตรง
                  3. การสาธิตทำให้เห็นจริง ทำจริง เข้าใจได้ง่าย
                  4. ประหยัดเวลาของผู้สอนและผู้เรียน เพราะการสาธิตทำให้ผู้เรียนเห็นไปพร้อม ๆ กันทั้งห้อง
                  5. การสาธิตฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสังเกต รู้จักคิดหาเหตุผล และรู้จักสรุปหลักเกณฑ์ได้เอง
                  6. การสาธิตสามารถแสดงซ้ำตรงจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้งในจุดที่ต้องการได้
                  7. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน


                 
               สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 80) ได้อธิบายถึงคุณค่าของการสอนโดยใช้การสาธิตไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
               1. เป็นการสอนที่ผู้เรียนสามารถเกิดมโนมติความคิด และเข้าใจหลักการโดยผ่านการแสดงหรือการกระทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะบางสิ่งบางอย่างหรือกระบวนการบางอย่าง ถ้าแสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้นอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ฯลฯ แล้ว  ย่อมเป็นการง่ายกว่าที่จะอธิบายสิ่งนั้นหรือกระบวนการนั้นๆ  ด้วยคำพูด
               2. เป็นการสอนที่ประหยัดเวลาทั้งผู้สอนและผู้เรียน เช่น บางครั้งครูต้องการอธิบายกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการสอนหลายคาบเรียน จึงจะทำให้ประหยัดเวลาในการอธิบาย และทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างรวดเร็วด้วย
               3. เป็นการสอนที่สามารถผสมผสานกับวิธีการสอนแบบต่างๆ  เช่น แบบบรรยาย แบบอภิปราย แบบทดลอง กล่าวคือมีการสาธิตให้ดูก่อน แล้วนำไปสู่การบรรยาย การอภิปราย การทดลองหรือการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น
               4. เป็นการสอนที่เร้าใจผู้เรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะการได้ประสบการณ์ตรงย่อมทำความตื่นเต้นให้กับผู้เรียนมากกว่าคำอธิบายธรรมดา ๆ
               5. เป็นการสอนที่สามารถใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ  กัน เช่น เมื่อต้องการนำเข้าสู่บทเรียน เมื่อต้องการนำไปสู่การแก้ปัญหา เมื่อต้องการให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดในเรื่องหนึ่ง เมื่อต้องการทบทวนความรู้ที่ได้เรียนไปแล้ว
               สรุปได้ว่าการสอนโดยใช้การสาธิตมีจุดเด่นที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนหลายประการ  ซึ่งประมวลสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้
               1. เป็นการสอนที่เพิ่มความเข้าใจของผู้เรียน  เนื่องจากได้เห็นกิจกรรมการสาธิตตามลำดับขั้นตอนและผู้เรียนจะจำเรื่องที่สาธิตได้ดีและนาน
               2. เป็นวิธีการสอนที่ช่วยประหยัดเวลา อุปกรณ์และค่าใช้จ่าย หากใช้ทดแทนการทดลอง
               3. เป็นวิธีที่สามารถสอนผู้เรียนได้จำนวนมาก
               4. สามารถใช้ผสมผสานกับวิธีสอนแบบต่างๆ ได้ เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยายหรือการทดลอง เป็นต้น
               5. เป็นการสอนที่เร้าใจผู้เรียน
               6. การสาธิตสามารถแสดงซ้ำตรงจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้งในจุดที่ต้องการได้
               7. ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้
               8. เป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักสังเกต หาเหตุผล และสรุปหลักเกณฑ์ได้


ข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้การสาธิต
             การสอนโดยใช้การสาธิตเป็นการสอนที่เหมาะกับเรื่องที่ต้องการให้ผู้เรียนได้สังเกต ฝึกคิด  วิเคราะห์หาเหตุผล  ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี  อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ครูผู้สอนควรคำนึงถึงก่อนนำวิธีการสอนนี้ไปใช้ ดังที่ ทิศนา  แขมมณี (2550 : 331-332) ได้เสนอแนะถึงข้อจำกัดของการสอนโดยใช้สาธิต ดังนี้
               1. หากกลุ่มใหญ่ผู้เรียนอาจสังเกตเห็นการสาธิตไม่ชัดเจน และทั่วถึง
               2. เป็นวิธีที่ผู้สอนเป็นผู้สาธิต จึงอาจไม่เห็นพฤติกรรมของผู้เรียน
               3. เป็นวิธีที่ผู้เรียนอาจมีส่วนร่วมไม่ทั่วถึง และมากพอ
               4. เป็นวิธีที่ผู้เรียนไม่ได้ลงมือทำเอง จึงอาจไม่เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ
               จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การสาธิตที่ควรคำนึง ได้แก่  หากเป็นการสอนกลุ่มใหญ่ ผู้เรียนอาจสังเกตเห็นการสาธิตไม่ได้ชัดเจนทั่วถึง  และในขณะที่ผู้สอนกำลังสาธิตอาจไม่เห็นพฤติกรรมของผู้เรียน หากผู้เรียนมีส่วนร่วมไม่ทั่วถึงและมากพอ นอกจากนี้ การสอนโดยใช้การสาธิตนี้เป็นวิธีที่ผู้เรียนไม่ได้ลงมือทำเอง จึงอาจไม่เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ
            
สรุปท้ายบท

               การสอนโดยวิธีการสาธิต หมายถึง กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พร้อมๆ กับการบอก อธิบาย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการสังเกต แล้วให้ผู้เรียนได้ซักถาม อภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสังเกตดังกล่าว
               ในการสอนโดยใช้การสาธิตมีจุดมุ่งหมาย เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน และมุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือการปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น นอกจากนี้การสาธิตยังช่วยอธิบายเนื้อหาวิชาที่ยาก ซึ่งต้องใช้เวลามาก ให้เข้าใจง่ายขึ้นและประหยัดเวลา  รวมทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นผลการทดลองที่ผู้เรียนไม่สามารถทดลองเองได้อันเนื่องจากเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่พอที่จะให้ผู้เรียนทดลองทุกคนหรือเป็นการทดลองที่มีอันตราย
             ขั้นตอนการสอนโดยใช้การสาธิตอาจแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการสอน  ขั้นการสาธิต  และขั้นสุดท้ายขั้นอภิปราย  สรุปและประเมินผล  สำหรับขั้นตอนการเตรียมการสอนโดยใช้การสาธิต ผู้สอนควรได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ 1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการสาธิตให้ชัดเจน และต้องสาธิตให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง 2) เตรียมอุปกรณ์ในการสาธิตให้พร้อม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์  3) เตรียมกระบวนการสาธิต เช่น กำหนดเวลาและขั้นตอน จะเริ่มต้นดำเนินการและจบลงอย่างไร ผู้สาธิตต้องเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ  เหล่านี้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง  4) ทดลองสาธิตก่อนสอน ควรทดลองสาธิตเพื่อตรวจสอบความพร้อมตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในเวลาสอน  และ 5) ควรจัดเตรียมแบบสังเกตการณ์สาธิต  และเตรียมคำถามหรือประเด็นที่จะให้ผู้เรียนได้ร่วมคิดและอภิปรายด้วย
               ในขั้นตอนการสาธิต ผู้สอนควรเริ่มด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสาธิต ซึ่งสามารถทำได้โดย การบรรยายใช้เอกสารประกอบ หรือใช้สื่อ วีดีทัศน์ เป็นต้น  จากนั้นจึงให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนถึงวิธีการในการสังเกต และการบันทึก  โดยมีแบบสังเกตการณ์สาธิตประกอบ  แล้วจึงเริ่มการสาธิต  ในขณะที่กำลังสาธิตผู้สอนอาจใช้การบรรยายประกอบการสาธิต  และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย  หรือซักถามผู้เรียนเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นความคิดและความสนใจของผู้เรียน  อย่างไรก็ตามการสาธิตเงียบในบางครั้งก็อาจทำให้นักเรียนมีใจจดจ่ออยู่กับการสาธิตนั้นๆ ได้
               หลังจากการสาธิตแล้ว ผู้สอนควรให้ผู้เรียนรายงานสิ่งที่สังเกตเห็นพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดที่แต่ละคนได้รับ  และนักเรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ โดยมีครูผู้สอนให้คำแนะนำในการสรุป  ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้อาจทำได้โดยใช้คำถาม  และให้นักเรียนบางคนออกมาสาธิตสิ่งที่ดูไปแล้ว หรือการเขียนรายงานเกี่ยวกับกระบวนการหรือสิ่งที่ได้รับจากการสาธิตนั้นๆ
               การสอนโดยใช้การสาธิตมีจุดเด่นที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนหลายประการ  ซึ่งประมวลสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้  1) เป็นการสอนที่เพิ่มความเข้าใจของผู้เรียน  เนื่องจากได้เห็นกิจกรรมการสาธิตตามลำดับขั้นตอนและผู้เรียนจะจำเรื่องที่สาธิตได้ดีและนาน 2) เป็นวิธีการสอนที่ช่วยประหยัดเวลา อุปกรณ์และค่าใช้จ่าย หากใช้ทดแทนการทดลอง 3) เป็นวิธีที่สามารถสอนผู้เรียนได้จำนวนมาก 4) สามารถใช้ผสมผสานกับวิธีสอนแบบต่างๆ ได้ เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยายหรือการทดลอง เป็นต้น  5) เป็นการสอนที่เร้าใจผู้เรียน 6) การสาธิตสามารถแสดงซ้ำตรงจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้งในจุดที่ต้องการได้  7) ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้  และ  8) เป็นการฝึกนักเรียนให้รู้จักสังเกต หาเหตุผล และสรุปหลักเกณฑ์ได้
               ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การสาธิตที่ควรคำนึง ได้แก่  หากเป็นการสอนกลุ่มใหญ่ ผู้เรียนอาจสังเกตเห็นการสาธิตไม่ได้ชัดเจนทั่วถึง  และในขณะที่ผู้สอนกำลังสาธิตอาจไม่เห็นพฤติกรรมของผู้เรียน หากผู้เรียนมีส่วนร่วมไม่ทั่วถึงและมากพอ นอกจากนี้ การสอนโดยใช้การสาธิตนี้เป็นวิธีที่ผู้เรียนไม่ได้ลงมือทำเอง จึงอาจไม่เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ

คำถามและกิจกรรมท้ายบท

1. จงอธิบายความหมายของ  การสอนโดยใช้การสาธิต”  ตามความคิดเห็นของท่าน
2. ลักษณะสำคัญของการสอนโดยใช้การสาธิต มีอะไรบ้าง
3. จงอธิบายจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การสาธิต
4. การสอนโดยใช้การสาธิตจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง
5. ขั้นตอนของการสอนโดยใช้การสาธิตมีขั้นตอนอะไรบ้าง  จงอธิบาย
              6. ท่านจะมีเทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การสาธิตให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง
7. จงอธิบายจุดเด่นและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การสาธิต มาพอสังเขป
              8. หากท่านจะเลือกวิธีการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ท่านจะเลือกวิธีการสอนโดยใช้การสาธิตหรือไม่ เพราะเหตุใด
              9. ให้ท่านสังเกตการสอนและศึกษาการสอนโดยใช้การสาธิตของครูที่มีความเชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมการสอนของครู  เพื่อไว้ใช้เป็นแบบอย่าง
              10. ให้ท่านทดลองฝึกสอนโดยใช้การสาธิต  แล้วให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำติชม หรืออาจบันทึกวีดีทัศน์ไว้วิเคราะห์การสอนของตนเองก็ได้



No comments:

Post a Comment