บทเรียนแบบโปรแกรม

วิธีสอนโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม  (Programmed Instruction)
         
             บทเรียนสำเร็จรูป มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภาษาไทยที่เรียกกัน เช่น บทเรียนสำเร็จรูป บทเรียนโปรแกรม  โปรแกรมการสอน หนังสือฝึกเรียนด้วยตนเอง เป็นต้น ส่วนในภาษาอังกฤษที่เรียกกันก็มี เช่น Programmed Learning, Programmed Instruction, Programmed Lesson, Programmed Textbook เป็นต้น แต่คำที่นิยมใช้กันมาก เป็นที่ค้นเคย ได้แก่ Programmed Instruction และ Programmed Learning หรือในภาษาไทยก็ได้แก่คำว่า บทเรียนสำเร็จรูป และ บทเรียนโปรแกรม ซึ่งคำเหล่านี้ก็หมายถึงสิ่งเดียวกันนั่นเอง แต่ในบทนี้จะใช้คำว่าบทเรียนโปรแกรม (ลำพอง บุญช่วย, 2530 : 186)
               วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม ถือเป็นนวัตกรรมการศึกษาอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมผู้เรียนให้รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยพัฒนาไปตามขีดความสามารถของตนเอง ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองตามความสามารถของตน เรียนไปตามลำดับขั้นที่พอเหมาะกับความสนใจและความสามารถของตน ผู้เรียนจะเรียนได้สำเร็จโดยใช้เวลามากหรือน้อยตามความสามารถของตนเอง (อรภัทร สิทธิรักษ์, 2540 : 105)
               ในบทนี้กล่าวถึง วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม ประกอบไปด้วย ความหมาย จุดมุ่งหมาย  องค์ประกอบ ขั้นตอนการสอน  และข้อดีและข้อจำกัดในการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม  พร้อมทั้งสรุปท้ายบท คำถามและกิจกรรมท้ายบทด้วย

ความหมาย
             วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมเป็นการสอนหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนักวิชาการ 3 ท่านได้ให้ความหมายของบทเรียนโปรแกรมไว้ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 378) กล่าวว่าวิธีสอนโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม  คือ  กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด  โดยการให้ผู้เรียนศึกษาจากบทเรียนสำเร็จรูปด้วยตนเอง  (ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากบทเรียนปกติ  กล่าวก็คือ  เป็นบทเรียนที่นำเนื้อหาสาระที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มาแตกเป็นหน่วยย่อย  (small  steps)  เพื่อให้ง่ายแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้  และนำเสนอแก่ผู้เรียนในลักษณะที่ให้ผู้เรียนสามารถตอบสนองสิ่งที่เรียน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเองได้ทันที  (immediately  feedback)  ว่าผิดหรือถูก  ผู้เรียนสามารถใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยตามความสามารถ  และสามารถตรวจสอบผลการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  เพราะบทเรียนจะมีแบบสอบทั้งแบบสอบก่อนการเรียน  (pre – test)  และแบบสอบหลังการเรียน  (post – test)  ไว้ให้พร้อม 
               พูลสุข  กิจรัตนี (2531 : 133)  อ้างใน เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 649) อธิบายว่า แบบเรียนแบบโปรแกรมเป็นเครื่องมือสำคัญของการสอนแบบโปรแกรม (Programmed  Instruction)  ซึ่งหมายถึง  การสอนที่มีการวางโปรแกรมไว้ล่วงหน้าที่จะให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง  ด้วยการลงมือประกอบกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง  ทราบข้อติชมทันท่วงที มีความภูมิใจในความสำเร็จและได้ใคร่ครวญตามทีละน้อยตามลำดับขั้นและก้าวไปข้างหน้า ตามความสามารถ  ความสนใจและความสะดวกของแต่ละคน 
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 649-650) กล่าวถึง แบบเรียนแบบโปรแกรม หมายถึง บทเรียนที่เสนอเนื้อหาในรูปของกรอบซึ่งบรรจุเนื้อหาทีละน้อย มีคำถามท้าทายให้ผู้เรียนตอบ และเฉลยให้ทราบผลทันที  ส่วนมากจะเสนอความคิดรวบยอดที่วิเคราะห์และเรียบเรียงมาดีแล้ว  โดยผู้เรียนสามารถศึกษาด้วยตนเองได้ 
               ดังนั้น วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม หมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้สอนได้วางแผนไว้ล่วงหน้าให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามจุดประสงค์ที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ โดยศึกษาจากบทเรียนที่สำเร็จรูปแล้ว ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาและเข้าใจได้ทันท่วงที แต่จะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน

จุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม
               นักวิชาการได้เสนอจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 378) กล่าวว่า วิธีสอนโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรมเป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนรายบุคคลได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถ ความต้องการและความสนใจของตน 
               สุกัญญา ธารีวรรณ (2520 : 147)  อ้างใน อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 116) ได้เสนอแนะว่า ความมุ่งหมายของบทเรียนโปรแกรม สรุปไว้ดังนี้
               1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนด้วยตนเอง
2. เพื่อเป็นการเสริมความรู้ให้แก่ผู้เรียน ทำให้มีความรู้กว้างขวางขึ้น จำได้แม่นยำขึ้น
3. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักควบคุมตัวเอง  มีความรับผิดชอบและคิดเป็น
4. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
5. ผู้เรียนจะต้องตอบคำถามของแต่ละหน่วยย่อยให้ถูกต้องเสียก่อน  จึงจะขึ้นตอน
ต่อไปได้  ถ้ายังทำไม่ได้จะต้องซ้ำจนกว่าจะทำได้ถูกทั้งหมด 
               สรุปได้ว่าการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมนั้นมุ่งให้ผู้เรียนเรียนตามความสามารถ ความสนใจของตนเอง เพื่อให้เกิดความความรู้กว้างขวางขึ้น รู้จักคิดและควบคุมตนเองพร้อมทั้งเกิดความซื่อสัตย์ได้ด้วยตนเอง

องค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 378) กล่าวถึงการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม ควรจะประกอบไปด้วย
1. มีผู้สอนและผู้เรียน
2. มีบทเรียนแบบโปรแกรมในเรื่องที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
3. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากบทเรียนแบบโปรแกรม

ลักษณะสำคัญของแบบเรียนแบบโปรแกรม   
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 649-650) กล่าวถึงลักษณะเด่นของแบบเรียนแบบโปรแกรม  คือ 
               1. เนื้อหาแบ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ  ที่เรียกว่า  กรอบ
               2. ผู้เรียนแสดงการตอบสนองในแต่ละกรอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาอย่าง
                   ต่อเนื่อง
               3. ผู้เรียนได้รับการเสริมแรงโดยการทราบผลการตอบทันที
               4. กรอบจะเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก
               5. ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
               6. ผู้เรียนสามารถเขียนได้ด้วยตนเอง   

ขั้นตอนการสร้างและการใช้บทเรียนโปรแกรม 

               พูลสุข  กิจรัตนี  (2531 : 134 -136)  อ้างใน  อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 652) กล่าวถึงลำดับขั้นตอนการสร้างแบบเรียนแบบโปรแกรมมี  ขั้นตอน  คือ
               1. ตั้งจุดมุ่งหมายของบทเรียน  (Objectives)  โดยตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม เพื่อกำหนดว่าต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมขั้นสุดท้ายอย่างไร
               2. วิเคราะห์เนื้อหาหรืองานที่ต้องทำ (Task Analysis) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหา กำหนดเนื้อหา
และงานที่จะทำให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย จากนั้นก็แตกเนื้อหาให้เป็นส่วนย่อยโดยละเอียดเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก
               3. สร้างแบบทดสอบ  (Prepare  Tests)  เป็นแบบทดสอบที่ครอบคลุมเนื้อหาและวัด
ตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม  เพื่อนำไปใช้ทดสอบก่อนการสอนและหลังการสอน
               4. จัดลำดับเนื้อหา  (Instructional  Sequences)  กำหนดเนื้อหาและลำดับขั้นของการ
เรียนรู้ที่จะนำผู้เรียนไปสู่จุดประสงค์ได้
               5. จัดทำกรอบการเรียน  (Instructional  Frames)  ลงมือเขียนกรอบการเรียนทีละกรอบ
ตามลำดับเนื้อหาที่แยกย่อยไว้แล้ว  บทเรียนแต่ละกรอบต้องต่อเนื่องกันไป
               1. ทดลองเป็นรายบุคคล  (Individual Tryout) นำแบบเรียนที่สร้างขึ้นไปทดลองกับผู้เรียน
รายบุคคล หรือรายกลุ่มเล็ก ๆ  เพื่อนำข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงแบบเรียน
               2. ทดลองในสภาพที่เป็นจริง  (Field Tryout) นำแบบเรียนแบบโปรแกรมไปทดลองใน
ห้องเรียนจริงกับนักเรียนกลุ่มใหญ่  เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงบทเรียนอีกครั้ง
               3. นำแบบเรียนแบบโปรแกรมไปใช้จริง  (Implementation)

               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 378-379) ได้กล่าวถึงขั้นตอนของการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม มีดังนี้
               1. ผู้สอนศึกษาปัญหา ความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
               2. ผู้สอนเลือก  แสวงหา  สร้าง  บทเรียนแบบโปรแกรมในเรื่องที่ตรงกับปัญหาความ
ต้องการหรือความสนใจของผู้เรียน
               3. ผู้สอนแนะนำการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมให้ผู้เรียนเข้าใจ
               4. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมด้วยตนเอง
               5. ผู้เรียนทดสอบการเรียนรู้ของตนด้วยตนเอง  หรือมารับการทดสอบจากผู้สอน

               สุวิทย์ คำมูล และอรทัย คำมูล (2550 : 38-39) อธิบายขั้นตอนการสร้างและการใช้
บทเรียนโปรแกรม  โดยบ่างออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
             1. ขั้นเตรียม (สำหรับผู้สอน)
               ผู้สอนศึกษาปัญหาความต้องการและความสนใจของผู้เรียน นำมาหาทางเลือกหรือ
สร้างบทเรียนโปรแกรมหรือบทเรียนสำเร็จรูปเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา โดยควรได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญก่อนและต้องมีการทดลองตามหลักการวิจัย โดยการหาความเชื่อมั่นก่อนจึงจะให้ผู้เรียนได้เรียนตามกิจกรรมในบทเรียนนั้นๆ ส่วนขั้นตอนการออกแบบสามารถดำเนินการได้ดังนี้
                     1.1 วิเคราะห์หลักสูตรเพื่อพิจารณาขอบข่ายของเนื้อหา ระดับ ประเภท เวลาที่ใช้ คู่มือครูเพื่อให้เกิดแนวคิดในการผลิต
                     1.2 กำหนดเนื้อหา วิชาและระดับชั้น โดยพิจารณาเนื้อหาวิชาที่นำมาผลิตเป็นวิชาอะไร ใช้สอนระดับใด มีสาระมากน้อยเพียงใด เปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่
                     1.3 กำหนดวัตถุประสงค์ เป็นการกำหนดให้ทราบว่า เมื่อเรียนจบแล้วผู้เรียนจะเรียนรู้อะไร  มีความสามารถแค่ไหน
                     1.4 วางขอบเขตของงาน โดยวางเค้าโรครงเรื่องลำดับเรื่องราวก่อนหลัง
                     1.5 วิเคราะห์เนื้อหา เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการนำเนื้อหามาแตกย่อยและเรียงลำดับจากง่ายไปยาก
                     1.6 สร้างแบบทดสอบและมีคำตอบให้ไว้ โดยออกแบบเนื้อหาที่จะใช้ทดสอบผู้เรียน ทั้งก่อนและหลังเรียนในบทเรียนนั้น แบบทดสอบต้องวัดให้ครอบคลุม วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่วางไว้และต้องสร้างขึ้นตามหลักการสร้างแบบทดสอบ
                     1.7 เขียนบทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรม ผู้ออกแบบจะต้องเขียนโดยยึดโครงสร้างขั้นตอนการเขียนและขอบเขตของงาน
                     1.8 ทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไข การทดลองแต่ละครั้ง ควรบันทึกผลการทดลอง เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข เช่นอาจจะปรับปรุงเนื้อหา แก้ไขด้านภาษา เป็นต้น
             2. ขั้นการเรียนรู้
                     1.1 ผู้สอนให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
                     1.2 ผู้สอนแนะนำการใช้บทเรียนให้ผู้เรียนเข้าในทุกขั้นตอน
                     1.3 แจกบทเรียนให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองตามกิจกรรมที่บทเรียนกำหนดไว้โดยผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไป
             3. ขั้นสรุป
                     1.1 หลังจากที่ผู้เรียนศึกษาจนจบบทเรียนแล้ว ผู้สอนจึงทำแบบทดสอบหลังเรียน
                     1.2 ผู้สอนสรุปสาระสำคัญเพิ่มเติมสำหรับผู้เรียนที่ต้องการทราบ
                     1.3 ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันตรวจสอบและประเมินผลงาน

               สรุปได้ว่า ขั้นตอนของการสร้างและการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม มีดังนี้
               1. ขั้นเตรียม ผู้สอนจะต้องกำหนดเนื้อหา กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวอเคราะห์และสร้างเป็นหลักสูตรขึ้นมา แต่ต้องนำไปทดลองใช้และสรุปแก้ไขก่อนการนำไปใช้จริง
               2. ขั้นนำไปใช้หรือขั้นเรียนรู้ ผู้สอนนำบทเรียนโปรแกรมให้ผู้เรียนได้ศึกษา ก่อนการนำไปใช้ต้องทดสอบผู้เรียนก่อน
               3. ขั้นสรุป  เมื่อศึกษาแล้วผู้สอนให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบ และสรุปสาระสำคัญจากสิ่งที่ได้ศึกษาไป

เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอน โดยการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพ    (ทิศนา  แขมมณี, 2550 : 379-380)
             1. การเตรียมการ  ผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาปัญหาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นรายบุคคล  เพื่อจะได้ทราบว่าควรให้บทเรียนเรื่องอะไร  แก่ใคร  โดยทั่วไปการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมมีการใช้ใน  ลักษณะ  คือ  ใช้สอนเนื้อหาสาระใดสาระหนึ่ง  โดยให้ผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถ  อีกลักษณะหนึ่งคือการให้สอนซ่อมเสริมการเรียนตามปกติ  โดยผู้เรียนอาจเรียนรู้ไม่ทันเพื่อน  หรือสอบไม่ผ่าน  ผู้สอนอาจให้บทเรียนแบบโปรแกรมแก่ผู้เรียน  เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง
               การสอนด้วยวิธีนี้  ผู้สอนจำเป็นต้องมีบทเรียนสำเร็จรูป  ซึ่งมีลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียน
สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ซึ่งเรียกว่า  บทเรียนแบบโปรแกรม  บทเรียนนี้จะเสนอเนื้อหาไปทีละน้อย  ในรูปของ  กรอบ”  หรือ  เฟรม”  (Frame)  หลังจากนำเสนอเนื้อหา/มโนทัศน์ไปแล้ว  จะมีคำถามทดสอบการเรียนรู้ของผู้เรียน  ซึ่งผู้เรียนสามารถตรวจคำตอบของตนได้จากคำเฉลยที่ให้ไว้  บทเรียนแบบโปรแกรมโดยทั่วไปมี  ลักษณะ คือ (1) บทเรียนแบบเส้นตรง  หรือที่เรียกว่า “linear  program”  บทเรียนแบบนี้มีการนำเสนอกรอบเนื้อหาไปตามลำดับ  ผู้เรียนจำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาและตอบคำถามไปตามลำดับที่ให้ไว้  (2) บทเรียนแบบสาขา  หรือที่เรียกว่า  “branching  program”  บทเรียนแบบนี้ต่างจากแบบเส้นตรง  ตรงที่การตอบสนองของผู้เรียนจะมีผลต่อลำดับการศึกษาบทเรียนของผู้เรียน  ผู้เรียนเลือกคำตอบ  ก   ข  หรือ  ค  จะต้องพลิกไปศึกษาข้อคำตอบที่ต่างกัน  เช่น  คำตอบ ก. เป็นคำตอบที่ผิด  คำเฉลยจะให้เหตุผลและชี้แจงว่าเหตุใดจึงผิดและให้กลับไปเลือกคำตอบใหม่  เมื่อเลือกคำตอบ ขเป็นคำตอบใหม่  ก็ต้องเปิดไปอ่านเฉลยและเหตุผล  หลังจากตอบถูกแล้วจึงจะเรียนกรอบต่อไปได้  ดังนั้นลำดับในการศึกษาบทเรียนของผู้เรียนแต่ละคนจึงอาจไม่เหมือนกัน  (3)  บทเรียนแบบไม่แยกกรอบ  บทเรียนนี้เหมือนกับบทเรียนแบบเส้นตรง  เพียงแต่ไม่เสนอเนื้อหาในรูปของกรอบ  แต่จะเสนอสาระต่อเนื่องกันเป็นความเรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ
               บทเรียนแบบโปรแกรมที่ใช้สอนอาจเป็นบทเรียนที่มีผู้ได้จัดทำไว้แล้ว  ซึ่งปกติมักเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการเรียนรู้ของเด็กจำนวนมาก  บทเรียนในกรณีนี้  มักเป็นบทเรียนที่นิสิต  นักศึกษา  ครู  อาจารย์  หรือนักวิชาการ  ได้จัดทำเป็นวิทยานิพนธ์หรือผลงานวิชาการเผยแพร่ออกไป อย่างไรก็ตามผลงานในลักษณะนี้ยังมีไม่มากนักและเรื่องที่มีอยู่อาจไม่ตรงกับความต้องการของครูผู้สอนซึ่งมีจำนวนมาก  ดังนั้นการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรมขึ้นใช้เอง  จึงเป็นเรื่องที่ครูผู้สอนควรจะดำเนินการ  เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะเรื่องของตน
               ในการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรม  ผู้สร้างจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาที่จะสอนและนำ
เนื้อหาสาระมาแตกย่อยและเรียงลำดับให้เหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ หลังจากนั้นจึงนำเสนอเนื้อหาสาระนั้นทีละน้อยไปตามลำดับ  และมีข้อคำถามที่ท้าทายความคิดของผู้เรียนและมีคำตอบเฉลยให้ไว้ด้วย  หลังจากนั้นควรมีการทดลองนำบทเรียนไปใช้กับกลุ่มย่อยแล้วปรับปรุง  จากนั้นจึงนำไปใช้กับกลุ่มใหญ่  เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน
             2. การดำเนินการ  ผู้สอนให้ผู้เรียนทำแบบสอบก่อนเรียน  และชี้แจงวิธีการเรียนจากบทเรียนแบบโปรแกรม  ให้ผู้เรียนซักถามจนเป็นที่เข้าใจ  แล้วจึงให้ผู้เรียนศึกษาบทเรียน  โดยผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไปได้
3. การประเมินผล  หลังจากที่ผู้เรียนศึกษาบทเรียนจบแล้ว  ผู้สอนจึงให้ทำแบบสอบหลังเรียน  และตรวจให้คะแนน

ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรม
               ถ้ากล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมนั้น ได้มีนักวิชาการกล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัด ไว้ดังนี้
               ทิศนา แขมมณี (2550 : 380)  กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม คือ
ข้อดี
               1. เป็นวิธีสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง
   2. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเป็นรายบุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตามความสามารถของตน       
   เป็นการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล
               3. เป็นวิธีสอนที่ช่วยลดภาระครู  และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครู
ข้อจำกัด
               1. เป็นวิธีสอนที่พึ่งบทเรียนแบบโปรแกรม  หากไม่มีบทเรียนหรือบทเรียนไม่มีคุณภาพดีพอ  ก็ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
               2. การสร้างบทเรียนให้มีคุณภาพที่ดี  เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและมีความยุ่งยากในการ
จัดทำ  ผู้สร้างจำเป็นต้องมีความรู้  ความเข้าใจในการสร้างบทเรียน
3. บทเรียนแบบโปรแกรมที่ดียังมีปริมาณน้อย  บทเรียนแบบโปรแกรมที่มีคุณภาพไม่ดี
4. พอจะไม่น่าสนใจ  และไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนเบื่อ
หน่ายได้
อินทิรา บุณยาทร (2542  : 119) ก็ยังได้กล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของบทเรียนสำเร็จรูป  ดังนี้ 
             ข้อดี
1. ผู้เรียนได้ฝึกตนเองให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ  ซื่อสัตย์
2. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนผู้สอน
 3. เป็นบทเรียนที่สนองตอบความแตกต่างระหว่างบุคคล
 4. จะเรียนตรงไหน  เมื่อไรก็ได้
 5. ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นให้เกิดกำลังใจในการเรียน  เพราะเรียนไปตามลำดับความยาก
 ง่ายและทราบคำตอบที่ทำไป

             ข้อจำกัด

               1. ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเมื่อใช้บ่อย ๆ  เพราะเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม
               2. เป็นการจำกัดความสามารถของผู้เรียน  เพราะต้องตอบคำถามแบบเขียนหรือเติมคำไปตามแนวที่ผู้สร้างบทเรียนได้วางไว้
               3. ไม่เหมาะในการสอนให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  เพราะผู้เรียนไม่มีเสรีภาพใน
การตอบ
               4. ถ้าให้ผู้เรียนทั้งชั้นเรียนบทเรียนเดียวกัน  จะเป็นการจำกัดความสามารถของคนฉลาดทีเรียนได้เร็วกว่า  และไม่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล

               และ บุญชม  ศรีสะอาด (2541: 83-84) ได้เสนอแนะข้อดีและข้อที่เป็นปัญหาของบทเรียนโปรแกรมว่าบทเรียนโปรแกรมมีทั้งข้อดีและข้อที่เป็นปัญหาดังนี้

ข้อดี

               1. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเองตามความสามารถของตน  เป็นการตอบสนองความ
แตกต่างระหว่างบุคคล
               2. ผู้เรียนจะเรียนที่ใดเมื่อใดก็ได้
               3. ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นให้เกิดกำลังใจในการเรียน  เพราะเรียนไปตามลำดับความ
ยากง่ายและทราบคำตอบที่ทำไป

             ข้อที่เป็นปัญหา

               1. การใช้บทเรียนโปรแกรมอย่างเดียวโดยตลอด  จะทำให้ผู้เรียนขาดการติดต่อซึ่งกันและกัน  ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้จากกันและกัน
               2. การใช้บทเรียนโปรแกรมในชั้นเรียน  จะมีลักษณะเป็นผู้ช่วยครูมากกว่าที่จะใช้แทนครู  ทั้งนี้เพราะอาจมีนักเรียนบางคนมีข้อสงสัยต้องการคำแนะนำแก่ครู  จึงจำเป็นต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา  อนึ่งครูอาจต้องเป็นผู้ดำเนินการสอบนักเรียนก่อนและหลังบทเรียนโปรแกรมนั้น
               3. การใช้บทเรียนโปรแกรมในชั้นเรียนผู้ที่เรียนได้รวดเร็วจะเสร็จก่อนและมีเวลาเหลืออีก  ถ้าไม่มีกิจกรรมให้ทำก็อาจมีพฤติกรรมที่รบกวนคนอื่น  จะต้องวางแผนและกำหนดงานพิเศษให้  ส่วนผู้ที่เรียนช้าบางคนอาจทำไม่เสร็จ  ต้องให้ทำนอกเวลาหรือให้ไปทำที่บ้านต่อ
               4. ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุผลที่ปรารถนา  ถ้านักเรียนไม่ปฏิบัติตามวิธีเรียนที่ถูกต้อง  กล่าวคือ  ไม่ได้ใช้ความคิดในการตอบแต่ใช้วิธีดูเฉลยคำตอบแล้วนำมาตอบ  นอกจากจะทำให้เรียนไม่ได้ผลแล้ว  ยังปลูกฝังการโกงอีกด้วย  จึงควรชี้แจงให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า  วิธีการดังกล่าวนั้นไม่มีประโยชน์ใด ๆ  สำหรับผู้เรียน

นอกจากนี้ ลำพอง บุญช่วย (2530 : 198)   กล่าวว่า ข้อดีและข้อเสียของบทเรียนสำเร็จรูปประกอบไปด้วย  

             ข้อดี
               1. นักเรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง  สนองตอบตามความสามารถระหว่างบุคคล
               2. ช่วยให้ครูมีเวลาว่างใช้เตรียมบทเรียนอื่น ๆ  หรือใช้เวลาดูแลนักเรียนได้มากขึ้น
               3. กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน
               4. แก้ปัญหาขาดแคลนครูได้
               5. เป็นการเพาะนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

             ข้อเสีย

               1. ไม่อาจใช้แทนครูได้โดยสิ้นเชิง  เพราะนักเรียนยังต้องการคำแนะนำอยู่
               2. ใช้กับบางวิชาไม่ได้  เช่นวิชาที่ต้องใช้ความคิดสนองตอบ  เป็นต้นว่าวิชาเรียงความ 
การเขียนบทกลอน
               3. นักเรียนมีความสามารถแตกต่างกัน  ผู้ที่ทำเสร็จก่อนอาจจะเบื่อหน่ายก็ได้  เพราะ
ไม่มีอะไรทำ  ครูต้องคอยเพิ่มงานอยู่เสมอ
               4. ครูผู้ใช้ต้องมีทักษะในการใช้อย่างถูกต้องจึงจะทำให้ได้ผล

               จากทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่าการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด
ซึ่งมีข้อดีดังนี้
               1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถของผู้เรียน
               2. ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อตนเอง
               3. สามารถจัดการเรียนการสอนที่ไหน เวลาใดก็ได้
               4. ช่วยลดภาระของผู้สอน แก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้
               5. ผู้เรียนเกิดกำลังใจในการเรียน โดยจะเรียนไปตามความยากง่าย
               ในส่วนของข้อจำกัดของการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม มีดังนี้
               1. ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่ายหากว่ามีการใช้บ่อยๆ
               2. จำกัดความสามารถของผู้เรียนเพราะต้องตอบคำถามตามที่ผู้สร้างบทเรียนได้วางไว้
               3. ใช้ได้กับเฉพาะบางวิชาเท่านั้น

สรุปท้ายบท

             วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม หมายถึง การสอนที่ผู้ได้สร้างแบบเรียนเอาไว้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาด้วยตนเอง ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนไว้กำหนดไว้ โดยมีการทำแบบทดสอบก่อนและหลัง ซึ่งเป็นการสอนที่จำกัดความสามารถและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเรียนตามความสนใจของตนเอง ได้มีความรู้ในบทเรียนได้กว้างขึ้น พร้อมทั้งรู้จักคิดและควบคุมการเรียนของตนเองให้ได้  องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนการสอนวิธีนี้ประกอบไปด้วยผู้เรียนและผู้สอน มีบทเรียนโปรแกรมในเรื่องที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียนและมีผลการเรียนรู้จากบทเรียนโปรแกรม
               วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมจึงเป็นการเรียนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์ เน้นความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถแบ่งเนื้อหาเป็นหน่วยเล็กๆ ได้  แต่ขั้นตอนการสอนและการสร้างบทเรียนโปรแกรมค่อนข้างจะละเอียดและเป็นงานหนักสำหรับผู้สอน เพราะผู้สอนต้องเตรียมเนื้อหาตามวัตถุประสงที่จะสอน วิเคราะห์เนื้อหาบทเรียนว่าต้องกับความสนใจของผู้เรียนหรือไม่ และยังต้องนำไปทดลองใช้กับผู้เรียนอื่นๆ ก่อนที่จะนำมาทดลองใช้จริงอีกด้วย 
               เมื่อผู้สอนเตรียมและสร้างบทเรียนเสร็จสิ้นแล้วก็ต้องนำไปให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยการทดสอบก่อนการเรียน ผู้สอนให้คำแนะนำบทเรียนอย่างละเอียด และเมื่อผู้เรียนศึกษาเสร็จก็ให้ทำการทำแบบทดสอบหลังเรียนเพราะประเมินว่าผู้เรียนเกิดการเรียนจากบทเรียนโปรแกรมมากน้อยเพียงใด
               แต่วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ข้อดีของการสอนวิธีนี้คือ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังช่วยลดภาระการสอนของผู้สอน หรือในกรณีที่ขาดแคลนผู้สอนได้  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอาจจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายถ้าใช้บ่อยๆ  และจำกัดความคิดของผู้เรียนในการเขียนตอบข้อคำถาม ซึ่งจะใช้กับการเรียนการสอนได้เฉพาะบางวิชาเท่านั้น
                          
คำถามและกิจกรรมท้ายบท

               1. จงอธิบายความหมายของ วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปแกรม ตามความคิดเห็นของท่าน
               2. วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมมีจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่ออะไรบ้าง
               3. องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปแกรมจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง
                  4. หากท่านต้องใช้วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม ท่านจะมีขั้นตอนในการสร้างและใช้
                      บทเรียนโปรแกรมได้อย่างไร
               5. ให้ท่านเสนอเทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนการสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม มา
                   พอสังเขป
               6. ท่านคิดว่า การสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม มีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง จงอธิบาย

No comments:

Post a Comment