อุปนัย

วิธีสอนโดยใช้การอุปนัย  (Induction Method)

             การจัดการเรียนการสอนที่เน้นนำเสนอเหตุการณ์ ตัวอย่าง ข้อมูล ก่อนการนำเสนอทฤษฎี หลักการของบทเรียนนั้นๆ จะทำให้ผู้เรียนได้มีความหลากหลายในด้านความคิด การแยกแยะ และการจำแนกสิ่งต่างๆ นำไปสู่ความเข้าใจในทฤษฎี หลักการได้ยิ่งขึ้น การสอนวิธีนี้ คือ การสอนโดยใช้การอุปนัย ซึ่งผู้สอนจะต้องเข้าใจหลักการ นำเสนอเหตุการณ์ ตัวอย่างที่ตรงกับหลักการที่จะสอนด้วย  เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการสอนโดยอุปนัยมากยิ่งขึ้น ดังที่ ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์ (2530 : 71) กล่าวถึงวิธีสอนแบบอุปมานหรืออุปนัยว่า เป็นวิธีใช้สอนมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล โดยใช้การสอนจากตัวอย่างไปสู่การสรุปเป็นกฎเกณฑ์หรือหลักทั่วไป หรือกล่าวได้ว่า การสอนแบบอุปมานเป็นการสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ การสอนแบบนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักค้นหาข้อเท็จจริง และหลักการต่างๆ จากการสังเกตตัวอย่างที่สัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ
               ในบทนี้กล่าวถึง ความหมาย จุดมุ่งหมายในการสอน องค์ประกอบที่สำคัญ  ขั้นตอนการสอนที่ถูกต้อง  เทคนิคข้อเสนอแนะในการสอน  และข้อดีและข้อจำกัดสำหรับการสอนโดยใช้การอุปนัย  นอกจากนี้ยังมีการสรุปเนื้อหาของบทเรียนไว้ในตอนท้าย พร้อมด้วยกิจกรรมและคำถามท้ายบท

ความหมาย
               นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของวิธีสอนโดยใช้อุปนัย ไว้ดังต่อไปนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 340) กล่าวถึงวิธีสอนโดยการใช้การอุปนัย  คือ  กระบวนการสอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด  โดยการนำตัวอย่าง / ข้อมูล / ความคิด / เหตุการณ์ / สถานการณ์ / ปรากฏการณ์  ที่มีหลักการ / แนวคิด  ที่ต้องการสอนให้แก่ผู้เรียน  มาให้ผู้เรียนศึกษาวิเคราะห์  จนสามารถดึงหลักการ / แนวคิดที่แฝงอยู่ออกมา  เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ต่อไป  กล่าวอย่างสั้น ๆ ได้ว่า  เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนสรุปหลักการจากตัวอย่างต่าง ๆ  ด้วยตนเอง
               ไสว ฟักขาว (2544 : 94) กล่าวว่า วิธีสอนแบบอุปมาน  อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วิธีสอนแบบอุปนัย   ซึ่งวิธีนี้ใช้ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล (Aristotle)  เป็นการสอนย่อยไปหาข้อสรุปซึ่งเป็นส่วนรวม  หรือสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์  โดยการให้ผู้เรียนทำการศึกษา  สังเกต  ทดลอง  เปรียบเทียบ  พิจารณาค้นหาองค์ประกอบ  หรือลักษณะส่วนที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ  เพื่อนำมาเป็นข้อสรุป 
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64) อธิบายถึงวิธีสอนแบบอุปนัย เป็นการสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ กล่าวคือ   การสอนจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวมหรือสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์ หลักการ ข้อเท็จจริง หรือข้อสรุป โดยการให้นักเรียนทำการศึกษา สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบ แล้วพิจารณาค้นหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ นำมาเป็นข้อสรุป 
               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) ได้กล่าวถึงวิธีสอนแบบอุปมัย คือ การสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ หรือสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์ โดยให้ผู้เรียนทำการศึกษา สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบ แล้วพิจารณาหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ เพื่อนำมาสรุปในความเป็นไปจากส่วนย่อยไปหากฎเกณฑ์ 
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 78) กล่าวว่า การสอนแบบอุปมานหรืออุปนัยหรืออุปมัย  หมายถึง  การสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์  หรือการสอนจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม  กล่าวคือ  ใช้ตัวอย่างหลาย ๆ ตัวอย่าง  แล้วให้ผู้เรียนสรุปเป็นกฎเกณฑ์  หลักการ  สูตร  นิยาม  ทฤษฎี  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปต่าง ๆ มักใช้ในวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณ  การค้นคว้า  และการทดลองต่าง ๆ  เช่น  วิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ภาษาศาสตร์  ฯลฯ  ตัวอย่างเช่น  ให้ผู้เรียนดูภาพหูสองข้าง  ตาสองข้าง  จมูก  และปาก  เมื่อนำมารวมกันก็เป็นส่วนประกอบของใบหน้า  หรือในการสอนเรื่องการบวก  ผู้สอนจะใช้ของจริงหรือของจำลอง  รูปภาพ  สัญลักษณ์  แสดงตัวอย่างของการบวกให้มากจนกระทั่งผู้เรียนสรุปความคิดรวบยอดได้ว่า  การบวกเป็นการนำจำนวนสองจำนวนมารวมกัน  จำนวนที่ได้จากการรวมสองจำนวนเข้าด้วยกัน  เรียกว่าผลรวมหรือผลบอกและถ้อยคำที่ใช้แสดงการบวกก็มีหลายอย่าง  เป็นต้น  วิธีสอนที่ตรงข้ามกับวิธีสอนแบบอนุมาน 
             นอกจากนี้ สามารถ คงสะอาด (2535 : 56) ยังได้อธิบายถึงวิธีสอนแบบอุปนัยหรืออุปมานว่า  เป็นวิธีสอนที่นิยมใช้สอนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ  เป็นการสอนจากตัวอย่างไปสู่กฎเกณฑ์หรือทฤษฎี  หรืออาจพูดง่าย ๆ ว่า  เป็นการสอนจากส่วนย่อยหรือจากรายละเอียดไปสู่ส่วนรวมก็ได้  ตัวอย่างเช่นใน การสอนวิชาคณิตศาสตร์  ครูอาจจะเริ่มสอนโดยให้นักเรียนดูตัวอย่าง  หรืออธิบายตัวอย่างหลาย ๆ  ตัวอย่างก่อนแล้วจึงค่อยสรุปเป็นหลัก  หรือทฤษฎีทีหลัง 
             สรุปได้ว่า วิธีสอนโดยใช้การอุปนัย หมายถึง การสอนที่มีการลงรายละเอียดปลีกย่อยก่อนการนำไปสู่หลักการหรือทฤษฎี โดยอาจจะใช้กรณีตัวอย่าง ข้อมูล หรือเหตุการณ์ต่างๆ มาใช้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษา วิเคราะห์ จนสามารถสรุปเป็นหลักการของตนเองได้อย่างถูกต้อง

จุดมุ่งหมายของวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย
             นักวิชาการกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสอนโดยใช้การอุปนัย ไว้ดังนี้
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 340) กล่าวว่า เป็นวิธีที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถจับหลักการหรือประเด็นสำคัญได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้หลักการแนวคิดหรือข้อความรู้ต่าง ๆ   อย่างเข้าใจ 
             ไสว ฟักขาว (2535 : 94) อธิบายว่า การสอนแบบอนุมานที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้คันพบหลักเกณฑ์ด้วยตนเอง และเข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างความคิดต่าง ๆ ในสิ่งที่เรียนอย่างแจ่มแจ้ง  ตลอดจนสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักทำการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง 
               ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548 : 64) กล่าวถึงความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบอุปนัยว่าเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญด้วยตนเองให้กับเข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ของความคิดต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ตลอดจนกระตุ้นให้นักเรียนรู้จัดทำการสอบสวนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง 
               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 104) กล่าวว่าความมุ่งหมายของการสอนโดยใช้อุปนัย จำแนกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
               1. เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์ หรือความจริงที่สำคัญด้วยตนเอง
               2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจความหมาย  และความสัมพันธ์ของความคิดต่าง ๆ และคุณสมบัติของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
               3. เพื่อให้ผู้เรียนได้กระตือรือร้นที่จะได้ศึกษา  ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
             
             สรุปได้ว่า  วิธีสอนโดยใช้อุนัยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด วิเคราะห์ สามารถเข้าใจความหมาย ค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งมุ่งให้ผู้เรียนกระตือรือร้นต่อการเรียนการรู้ด้วย

องค์ประกอบของวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 340) กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้)  ของวิธีสอนโดยใช้อุปนัยว่า ประกอบไปด้วย
             1. มีผู้สอนและผู้เรียน
               2. มีตัวอย่าง / ข้อมูล / สถานการณ์ / เหตุการณ์ / ปรากฏการณ์ / ความคิดที่เป็นลักษณะย่อย ๆ  ของสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
               3. มีการวิเคราะห์ตัวอย่างต่าง ๆ  เพื่อหาหลักการที่ร่วมกัน
               4. มีข้อสรุปที่มีลักษณะเป็นหลักการ / แนวคิด
               5. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ขั้นตอนในวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย
            ทิศนา  แขมมณี (2550 : 340) อธิบายถึงขั้นตอนสำคัญของการสอนโดยใช้การอุปนัย ว่ามีดังนี้ 
            1. ผู้สอน  และ/หรือผู้เรียน  ยกตัวอย่าง / ข้อมูล / สถานการณ์ / เหตุการณ์ / ปรากฏการณ์ / ความคิด  ที่เป็นลักษณะย่อยของสิ่งที่จะเรียนรู้
              2. ผู้เรียนศึกษาและวิเคราะห์หาหลักการที่แฝงอยู่ในตัวอย่างนั้น
              3. ผู้เรียนสรุปหลักการ / แนวคิดที่ได้จากตัวอย่างนั้น
              4. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
                สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132) กล่าวว่าในการดำเนินการสอนโดยวิธีอุปนัยประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
               1. ขั้นเตรียม 
               2. ขั้นสอน
               3. ขั้นสรุป 
               4. ขั้นประเมิน
               ไสว ฟักขาว (2535 : 94-95) ได้เสนอขั้นตอนกิจกรรมการเรียนการสอนแบบอุปมาน มีดังนี้ 
               1. ขั้นเตรียม 
               2. ขั้นนำเสนอ 
               3. ขั้นเปรียบเทียบและค้นหาลักษณะร่วม 
               4. ขั้นสรุปกฎเกณฑ์ 
               5. ขั้นนำไปใช้ 
               นอกจากนี้ อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) อธิบายถึงขั้นตอนการสอนโดยใช้อุปนัยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้  
             1. ขั้นเตรียมการ 
               2. ขั้นสอน
               3. ขั้นวิเคราะห์
               4. ขั้นสรุป  
               5. ขั้นนำไปใช้
               และ เสริมศรี   ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า วิธีสอนแบบอุปมานมีขั้นตอน ดังนี้
             1. ขั้นเตรียม 
               2. ขั้นสอน 
               3. ขั้นเปรียบเทียบ
               4. ขั้นสรุป 
               5. ขั้นนำไปใช้ 
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) เสนอขั้นตอนในการสอนแบบอุปนัย ไว้ดังนี้
             1. ขั้นเตรียม 
               2. ขั้นสอนหรือขั้นแสดง 
               3. ขั้นเปรียบเทียบและรวบรวม 
               4. ขั้นสรุป 
               5. ขั้นนำไปใช้ 
               จากขั้นตอนการสอนโดยใช้การอุปนัยที่นักวิชาการได้เสนอมา สรุปได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นเตรียม  2) ขั้นสอน  3) ขั้นเปรียบเทียบ  4) ขั้นสรุป  5) ขั้นนำไปใช้  
             1. การเตรียมตัวอย่าง  
               ทิศนา แขมมณี (2550 : 341) กล่าวว่า ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่าง / ข้อมูล / สถานการณ์ / เหตุการณ์ / ปรากฏการณ์ / ความคิด  ที่มีหลักการ / แนวคิด  ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แฝงอยู่  ตัวอย่างที่ควรให้ประกอบด้วยลักษณะหรือคุณสมบัติย่อย ๆ  ที่ครอบคลุม  หลักการ / แนวคิดนั้น  เช่น   ถ้าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่า  สัตว์เลื้อยคลานคืออะไร  ตัวอย่างที่ให้ก็ควรครอบคลุมคุณสมบัติย่อยของสัตว์เลื้อยคลาน  หรือต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจคำว่า  ซื่อสัตย์สุจริต  ตัวอย่างที่ให้ก็ควรประกอบด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ  ของความซื่อสัตย์  จะเห็นได้ว่า  วิธีสอนในลักษณะนี้เป็นวิธีการหลักที่ใช้ในการสอนมโนทัศน์และหลักการต่าง ๆ  ซึ่งการที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดมาก ๆ  นั้น  ตัวอย่างที่ให้ควรจะเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและท้าทายความคิด  ความสามารถของผู้เรียน  คือ  ต้องเป็นเรื่องที่ไม่งายเกินไป  แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถ  และตัวอย่างที่ให้ควรมีความหลากหลายและครอบคลุมลักษณะ / องค์ประกอบสำคัญของมโนทัศน์ / แนวคิด / หลักการนั้น  นอกจากนั้นการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้เรียนได้คิดค้นหาคำตอบจากตัวอย่างที่ให้  ก็มีความสำคัญมาก  การตั้งประเด็นคำถามที่ตรงจุด  ตรงประเด็น และมีลักษณะที่ท้าทายความคิด  จะช่วยจูงใจให้ผู้เรียนอยากคิด  อยากหาคำตอบ  และอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132) กล่าวว่า ขั้นเตรียมการสอนของการสอนโดยใช้อุปนัยประกอบด้วยขั้นตอนย่อย  ดังนี้
               1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสอน  ก่อนจะเตรียมคำสอน  ผู้สอนต้องเตรียมจุดมุ่งหมายว่าต้องการจะให้ผู้เรียนเกิดความรู้  ความสามารถด้านใด  และต้องการให้ทราบกฎและหลักการอะไร
               2. กำหนดเนื้อหาและขั้นตอนการสอนในการสอนด้วยวิธีอุปนัย  ขั้นตอนใน การสอนแต่ละขั้นตอนจะต้องมีความสัมพันธ์กัน  ผู้สอนจะต้องเรียงลำดับของเนื้อหาของแต่ละขั้นตอนให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน  ถ้าหากขั้นตอนของเนื้อหาไม่สอดคล้องกันจะทำให้ผู้เรียนเกิดการไขว้เขวได้
               3. เตรียมอุปกรณ์การสอน  ให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละขั้นตอน
               ไสว ฟักขาว (2535 : 94-95) แนะนำว่า ขั้นเตรียม เป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียน โดยการทบทวนความรู้เดิมให้พร้อมที่จะใช้ในการเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ บอกจุดประสงค์และอธิบายจุดประสงค์ในการเรียนให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
             นอกจากนี้ อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) อธิบายถึง ขั้นเตรียมการของการสอนโดยใช้อุปนัยว่า ขั้นเตรียมการ คือ การเตรียมตัวผู้เรียน โดยการทบทวนความรู้เดิมและปูพื้นฐานความรู้ใหม่ หรือเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่  พร้องทั้งบอกจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเข้าใจ
              เสริมศรี   ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า ขั้นเตรียม เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน เร้าความสนใจของผู้เรียน  ทบทวนความรู้เดิม  เพื่อให้สัมพันธ์กับความรู้ใหม่  อธิบายความมุ่งหมายให้ผู้เรียนเข้าใจ          
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) กล่าวถึง ขั้นตอนของการสอนโดยใช้อุปนัย ว่า ขั้นเตรียม คือ การเตรียมตัวนักเรียน เป็นการทบทวนความรู้เดิม  กำหนดจุดมุ่งหมาย  และอธิบายความมุ่งหมายให้นักเรียนได้เข้าใจแจ่มแจ้ง
               สรุปได้ว่า ขั้นเตรียม ผู้สอนต้องกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอน  เตรียมอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน
               2. ขั้นสอน
             ทิศนา แขมมณี (2550 : 341-342) กล่าวถึง ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในขั้นสอนว่า เป็นการให้ผู้เรียนศึกษาวิเคราะห์หาหลักการ / แนวคิด  จากตัวอย่าง  หากตัวอย่างที่ให้แก่ผู้เรียนเป็นตัวอย่างที่ครอบคลุมลักษณะหรือคุณสมบัติย่อย ๆ  ของหลักการ / แนวคิดนั้น ๆ  และมีคำถามที่สามารถนำผู้เรียนไปสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้ว  ย่อมจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาและวิเคราะห์ได้ตรงวัตถุประสงค์อย่างรวดเร็ว  แต่หากผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ  หรือทำได้ไม่ถูกต้อง  ผู้สอนสามารถใช้คำถามเพิ่มเติม  หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้  แต่ไม่ควรให้ในลักษณะที่เป็นการบอกคำตอบ  ผู้สอนพึงระลึกอยู่เสมอว่า  วิธีสอนนี้มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้คิด  ได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง  จึงควรใช้วิธีกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดค้นต่อไป  โดยการตั้งประเด็นคำถามเพิ่มเติมและควรให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดร่วมกันวิเคราะห์เป็นกลุ่มย่อย  เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  กระตุ้นและตรวจสอบความคิดของกันและกัน  อันจะนำไปสู่ความคิดที่รอบคอบขึ้นและถูกต้องมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  การร่วมกันคิดเป็นกลุ่มนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า  ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ช้า  มักจะถูกครอบงำหรือถูกข่มโดยผู้เรียนที่เรียนรู้ได้เร็วกว่า  ดังนั้น  ผู้สอนจึงควรจัดให้ผู้เรียนได้มีเวลาในการคิดเป็นรายบุคคลด้วยก่อนที่จะอภิปรายกลุ่มย่อย  และควรใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ  ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการอภิปรายกลุ่มย่อยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันพอสมควร
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132) กล่าวถึง ขั้นสอนของการสอนโดยใช้อุปนัยว่า การสอนโดยวิธีนี้ควรใช้วิธีการอธิบายแต่เพียงสั้น ๆ เฉพาะในเรื่องของความหมาย แนวคิดกว้าง ๆ และตัวอย่างเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้สอนควรใช้เทคนิคการใช้คำถามให้ผู้เรียนได้ตอบและสรุปความคิดเห็น หรือแนวคิด
               ไสว ฟักขาว (2535 : 94-95) กล่าวว่า ขั้นนำเสนอ เป็นขั้นที่ครูนำเสนอตัวอย่างหรือกรณีต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้พิจารณาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบลักษณะร่วมที่สำคัญเป็นกฎเกณฑ์ได้ สำหรับการนำเสนอตัวอย่างนั้นควรเสนอหลาย ๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะทำให้ผู้เรียนสรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ด้วยตนเอง
               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) กล่าวว่า ขั้นสอน คือ การให้ตัวอย่างหรือกรณีตัวอย่างหลาย ๆ  ตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนได้เปรียบเทียบพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ  มาสรุปเป็นกฎเกณฑ์
               เสริมศรี   ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า ขั้นสอน ผู้สอนให้ตัวอย่างแก่ผู้เรียนหลาย ๆ  ตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนจะสังเกตพิจารณาและหาข้อสรุปได้  สำหรับวิชาที่ต้องการทดลอง  เช่น  วิทยาศาสตร์  ผู้สอนอาจหาอุปกรณ์การทดลองให้จำนวนเพียงพอกับผู้เรียนที่จะทดลองด้วยตนเอง  หรือผู้สอนทำการสาธิตซ้ำหลาย ๆ  ครั้งจนผู้เรียนสรุปได้เอง
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) กล่าวว่า ขั้นสอนหรือขั้นแสดง คือ การเสนอตัวอย่างหรือกรณีต่าง ๆ ให้นักเรียนได้พิจารณา เพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบ สรุปกฎเกณฑ์ได้ การเสนอตัวอย่างควรเสนอหลาย ๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้ ไม่ควรเสนอเพียงตัวอย่างเดียว
               สรุปได้ว่า ขั้นสอน ผู้สอนนำเสนอการสอนโดยการอธิบายเนื้อหาสั้นๆ แต่ต้องยกตัวอย่างให้แก่ผู้เรียนหลาย ๆ  ตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนจะสังเกตพิจารณาและหาข้อสรุปได้ 
               3.ขั้นเปรียบเทียบหรือขั้นวิเคราะห์
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132) กล่าวถึง ขั้นสรุปว่า ในการสรุปนั้นควรให้ผู้เรียนช่วยสรุปโดยผู้สอนพยายามหลีกเลี่ยงการสรุป  เสียเอง
               ไสว ฟักขาว (2535 : 94-95) อธิบายว่า ขั้นเปรียบเทียบและค้นหาลักษณะร่วม เป็นการให้ผู้เรียนพิจารณาองค์ประกอบร่วมที่คล้ายคลึงกันในตัวอย่างที่ครูนำเสนอ  เพื่อเตรียมไว้เป็นข้อมูลในการสรุปเป็นกฎเกณฑ์ต่อไป
               เสริมศรี   ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า ขั้นเปรียบเทียบ เมื่อผู้เรียนได้พิจารณาจากตัวอย่างหลาย ๆ ตัวอย่าง หรือได้ลงมือทดลอง สังเกต วิเคราะห์ด้วยตนเอง ผู้เรียนก็สามารถเปรียบเทียบแยกแยะข้อแตกต่างหาองค์ประกอบร่วม และมองเห็นความสัมพันธ์ของรายละเอียดที่เหมือนกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปในขั้นต่อไป
               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) กล่าวว่า ขั้นวิเคราะห์ คือ การเปรียบเทียบและรวบรวม หาองค์ประกอบจากการทดลองจาก   การสังเกตจนพบความแตกต่าง  และหาความสัมพันธ์ของรายละเอียดที่เหมือนกันจนสามารถนำมาสรุปได้
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) กล่าวว่า ขั้นเปรียบเทียบและรวบรวม  เป็นขั้นหาองค์ประกอบรวม  คือ  การที่นักเรียนได้มีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบในตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์  ไม่ควร  รีบร้อนหรือเร่งเร้าเด็กเกินไป
               สรุปได้ว่า ขั้นเปรียบเทียบ  ผู้เรียนพิจารณาตัวอย่างหลาย ๆ  ตัวอย่าง  หรือได้ลงมือทดลอง  สังเกต  วิเคราะห์ด้วยตนเอง  ผู้เรียนก็สามารถเปรียบเทียบแยกแยะข้อแตกต่างหาองค์ประกอบร่วม  และมองเห็นความสัมพันธ์ของรายละเอียดที่เหมือนกัน 


               4.ขั้นสรุป
               สิริวรรณ  ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 132) กล่าวถึง ขั้นสรุป  ในการสรุปนั้นควรให้ผู้เรียนช่วยสรุปโดยผู้สอนพยายามหลีกเลี่ยงการสรุป  เสียเอง
               ไสว ฟักขาว (2535 : 94-95) กล่าวว่า ขั้นสรุปกฎเกณฑ์ เป็นการนำผลการเปรียบเทียบและค้นหาลักษณะร่วมที่ได้ดำเนินการไว้  มาสรุปเป็นกฎเกณฑ์  นิยาม  หลักการ หรือสูตรด้วยตัวผู้เรียนเอง
               อินทิรา  บุณยาทร (2542 : 104) กล่าวว่า ขั้นสรุป คือ การสรุปประเด็นสำคัญต่าง ๆ  จากการสังเกตตัวอย่างจนเป็นหลักการ  หรือกฎเกณฑ์ด้วยตนเองได้
               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า ขั้นสรุป  เป็นการสรุปองค์ประกอบร่วมจากตัวอย่างต่าง ๆ  ที่ผู้เรียนได้สังเกตพิจารณาทดลอง  พิสูจน์  แล้วมาสรุปเป็นกฎเกณฑ์  หลักสูตร  สูตร  นิยาม  ทฤษฎี  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปต่าง ๆ
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) กล่าวว่า ขั้นสรุป  คือ  การนำข้อสังเกตต่าง ๆ  จากตัวอย่างมาสรุปเป็นกฎเกณฑ์  นิยาม  หลักการ  หรือสูตร  ด้วยตัวนักเรียนเอง
               สรุปได้ว่า ขั้นสรุป  เป็นการสรุปองค์ประกอบร่วมจากตัวอย่างต่าง ๆ  ที่ผู้เรียนได้สังเกตพิจารณา  ทดลอง  พิสูจน์  แล้วมาสรุปเป็นกฎเกณฑ์  หลักสูตร  สูตร  นิยาม  ทฤษฎี  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปต่าง ๆ
               5. ขั้นนำไปใช้ 
               ไสว ฟักขาว (2535 : 95) กล่าวว่า ขั้นนำไปใช้  เป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์  นิยาม  หลักการ  หรือสูตร  ที่ผู้เรียนสรุปได้ว่าสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่  โดยการให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัด
               อินทิรา บุณยาทร (2542 : 104) กล่าวว่า            ขั้นนำไปใช้ คือ ขั้นการทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่ได้ทำมาแล้ว ว่าสามารถนำไปปฏิบัติ หรือแก้ปัญหาอื่น ๆ ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้ดีเพียงใด
และ
               เสริมศรี ลักษณศิริ (2540 : 279) กล่าวว่า ขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นทดสอบผู้เรียนเกี่ยวกับความเข้าใจกฎเกณฑ์หรือข้อสรุปนั้น ๆ ว่า สามารถที่จะนำไปใช้ในการทำแบบฝึกหัด หรือนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้หรือไม่
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 64-65) ขั้นนำไปใช้ คือ ขั้นทดลองความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือข้อสรุปที่ได้ทำมาแล้วว่าสามารถที่จะนำไปใช้ในปัญหาหรือแบบฝึกหัดอื่น ๆ ได้หรือไม่
               สรุปได้ว่า ขั้นนำไปใช้  เป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์  นิยาม 
หลักการ  หรือสูตร  ที่ผู้เรียนสรุปได้ว่าสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่  โดยการให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัด
จุดเด่นของวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย 

               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 341-342) กล่าวถึงจุดเด่นหรือข้อดีของการสอนโดยใช้การอุปนัย ดังนี้
             1. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนสามารถค้นพบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  จึงทำให้เกิดความเข้าใจและจดจำได้ดี
               2.เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์  อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้
               3. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนได้ทั้งเนื้อหาความรู้ (ได้แก่  หลักการ / แนวคิด  ฯลฯ) และกระบวนการ (ได้แก่  กระบวนการคิด)  ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่อง อื่น ๆ  ได้
                                                                                          สิริวรรณ ศรีพหล และ พันทิพา อุทัยสุข (2540 : 131) ได้กล่าวว่าสำหรับคุณค่าของวิธีการสอนแบบอุปนัยมีดังนี้ 
               1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิด  และสังเกต
               2. การที่ผู้เรียนได้มีโอกาสสรุปและจดข้อสังเกตจะทำให้สามารถจำสิ่งที่ได้จากบทเรียนได้นาน
               3. การเรียนโดยวิธีนี้นาน ๆ  จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีนิสัยชอบคิดหาเหตุผล
               4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดค้นหาเหตุผลด้วยตนเองไม่คอยแต่คำสอนของผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว
               5. ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมในพฤติกรรมการเรียนด้วย

               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 279-280) ได้อธิบายถึงข้อดีหรือจุดเด่นของวิธีสอนแบบอุปมาน ไว้ดังนี้
             1. ผู้เรียนเข้าใจและจดจำได้นาน  เพราะได้เรียนโดยการกระทำ
               2. ผู้เรียนเข้าใจวิธีที่จะแก้ปัญหาในทางรูปธรรมได้ในภายหลัง
               3. ผู้เรียนรู้จักวิธีทำงานที่ถูกต้องตามหลักจิตวิทยา
               4. ผู้เรียนได้ฝึกหัดคิดทั้งตามหลักธรรมศาสตร์และตามหลักวิทยาศาสตร์
               5. ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนรอบคอบถี่ถ้วน  ช่างสังเกต  มีเหตุผล  ไม่เชื่ออย่างงมงายโดยไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นจริง
               6. การสอนแบบนี้เหมาะที่จะใช้สำหรับวิชาที่จะต้องคิดตามหลักตรรกศาสตร์
               และ จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 57) กล่าวว่า ข้อดีของวิธีสอนแบบอุปมัยว่าจำแนกได้ดังนี้
             1. ผู้เรียนได้เรียนรู้และกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ  ด้วยความละเอียดรอบคอบ
               2. ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และสรุปเป็นกฎเกณฑ์  หรือเป็นแนวปฏิบัติได้
               3. ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและจดจำได้นาน
               นอกจากนี้ อินทิรา  บุณยาทร  (2542  : 105) กล่าวว่า ข้อดีของวิธีสอนแบบอุปนัย คือ
             1. ผู้เรียนได้ฝึกคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุมีผล
               2. ผู้เรียนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง
               3. ผู้เรียนรู้จักการค้นหา  พิจารณา  แยกแยะ  เปรียบเทียบในความเหมือนและความแตกต่าง
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 65) ได้กล่าวถึงข้อดีของการสอนโดยใช้อุปนัย ว่ามีดังนี้
             1. จะทำให้นักเรียนเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งและจำได้นาน
               2. ฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดตามหลักตรรกศาสตร์  และหลักวิทยาศาสตร์
               3. ให้นักเรียนเข้าใจวิธีการในการแก้ปัญหา  และรู้จักวิธีทำงานที่ถูกต้องตามหลักจิตวิทยา        
               สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้อุปนัย มีจุดเด่น ดังนี้
               1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาการคิด วิเคราะห์และการสังเกต
               2. ผู้เรียนสามารถค้นพบด้วยตนเอง เข้าใจและจดจำรายละเอียดของเนื้อหาได้ดี
               3. ผู้เรียนมีการสรุป จดจำบทเรียนได้นาน
               4. ผู้เรียนได้เรียนรู้และกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ  ด้วยความละเอียดรอบคอบ

ข้อเสียของวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย 
               ทิศนา  แขมมณี (2550 : 342) กล่าวถึง ข้อจำกัดของการสอนโดยใช้การอุปนัย ดังนี้
             1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก
               2. เป็นวิธีสอนที่อาศัยตัวอย่างที่ดี  หากผู้สอนขาดความเข้าใจในการจัดเตรียมตัวอย่างที่ครอบคลุมลักษณะสำคัญ ๆ  ของหลักการ / แนวคิดที่สอน  การสอนจะไม่ประสบผลสำเร็จ
               3. เป็นวิธีการสอนที่ผู้เรียนจะต้องคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเอง  หากผู้เรียนขาดทักษะพื้นฐานในการคิด  และการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  อาจไม่เกิดผลที่ต้องการ

               เสริมศรี  ลักษณศิริ (2540 : 279-280) ได้อธิบายถึง ข้อจำกัดของวิธีสอนแบบอุปมาน ไว้ดังนี้      
             1. ไม่เหมาะที่จะใช้สอนกับทุกวิชา  โดยเฉพาะไม่เหมาะกับวิชาที่มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์
               2. ผู้สอนต้องเข้าใจเทคนิคการสอนวิธีนี้อย่างแจ่มแจ้ง  ชัดเจน  เพื่อให้ผู้เรียนสรุปได้เอง
               3. ถ้าผู้สอนรีบบอกข้อสรุป  หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  จะทำให้การสอนแบบนี้ไม่ได้ผล
               4. เป็นวิธีสอนที่เสียเวลามาก  ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและมีปัญหาทางวินัย
               5. มักจะทำให้บทเรียนมีพิธีรีตองมากเกินไป 

               และ จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ (2544 : 57) กล่าวถึง ข้อจำกัดของวิธีสอนแบบอุปมัย ว่า การสอนวิธีนี้นักเรียนบางคนอาจจะเข้าใจยากเพราะเป็นการสอนในลักษณะนามธรรม ครูจึงต้องมีวิธีให้ความรู้ที่ชัดเจน  บางครั้งอาจจะต้องเสียเวลาในการอธิบายมาก

               นอกจากนี้ อินทิรา  บุณยาทร  (2542  : 105) กล่าวว่า ข้อจำกัดของวิธีสอนแบบอุปนัย  คือ     
               1. ผู้สอนต้องมีความเข้าใจในเทคนิควิธีสอนแบบนี้เป็นอย่างดี
               2. ผู้สอนต้องมีประสบการณ์เพียงพอ  มิฉะนั้นจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายเพราะใช้เวลามาก
               3. ผู้สอนต้องรู้จักการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้น่าสนใจ  ผู้เรียนจะได้กระตือรือร้นที่จะเรียน
               สุพิน  บุญชูวงศ์ (2544 : 65) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของการสอนโดยใช้อุปนัย ว่า
             1. ไม่เหมาะสมที่จะใช้สอนวิชาที่มีคุณค่าทางสุนทรียะ
               2. ใช้เวลามาก  อาจทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย
               3. ทำให้บรรยากาศการเรียนเป็นทางการเกินไป
               4. ครูต้องเข้าใจเทคนิควิธีสอนแบบนี้อย่างดี  จึงจะได้ผลสัมฤทธิ์ในการสอน      

               สรุปได้ว่า การสอนโดยใช้อุปนัยมีข้อจำกัด ได้ดังนี้
               1. ไม่เหมาะสำหรับวิชาที่มีเนื้อหาเข้าใจได้ยาก เพราะผู้เรียนอาจสรุปกฎเกณฑ์ด้วย
ตัวเองไม่ได้
               2. ใช้เวลาในการสอนมาก ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย
               3. ครูต้องใช้เทคนิคการสอนอย่างดี การสอนจึงจะสัมฤทธิ์ผล
               4. ไม่เหมาะสมที่จะใช้สอนวิชาที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ











สรุปท้ายบท

             วิธีสอนโดยใช้การอุปนัย  หมายถึง การสอนที่ผู้สอนลงรายละเอียดปลีกย่อยก่อนการนำไปสู่หลักการหรือทฤษฎี ผู้สอนอาจนำเสนอโดยการยกตัวอย่างหรือเหตุการณ์ให้ผู้เรียนได้เกิดความคิด วิเคราะห์จากตัวอย่างที่ให้ไว้เพื่อสรุปเป็นทฤษฎีในภายหลัง ซึ่งจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ผู้เรียนเกิดการค้นพบด้วยตัวเอง เข้าใจความหมายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ โดยมีองค์ประกอบสำคัญของการสอน คือ ผู้สอนและผู้เรียน จะต้องมีตัวอย่างข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่างๆ มีการวิเคราะห์ตัวอย่างต่างๆ เพื่อหาหลักการร่วมกัน มีข้อสรุปที่เป็นหลักการ และต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
               วิธีสอนโดยการใช้อุปนัยมีขั้นตอนการสอน  5  ขั้นตอน  คือ 1. ขั้นเตรียม ผู้สอนต้องกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนให้กับผู้เรียน  2. ขั้นสอน  ผู้สอนนำเสนอการสอนโดยการอธิบายเนื้อหาสั้นๆ แต่ต้องยกตัวอย่างให้แก่ผู้เรียนหลาย ๆ  ตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนจะสังเกตพิจารณาและหาข้อสรุปได้  3. ขั้นเปรียบเทียบ  ผู้เรียนพิจารณาตัวอย่างหลาย ๆ  ตัวอย่าง  หรือได้ลงมือทดลอง  สังเกต  วิเคราะห์ด้วยตนเอง  ผู้เรียนก็สามารถเปรียบเทียบแยกแยะข้อแตกต่างหาองค์ประกอบร่วม และมองเห็นความสัมพันธ์ของรายละเอียดที่เหมือนกัน  4. ขั้นสรุป  เป็นการสรุปองค์ประกอบร่วมจากตัวอย่างต่าง ๆ  ที่ผู้เรียนได้สังเกตพิจารณาทดลอง  พิสูจน์  แล้วมาสรุปเป็นกฎเกณฑ์  หลักสูตร  สูตร  นิยาม  ทฤษฎี  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปต่าง ๆ และสุดท้าย 5. ขั้นนำไปใช้  เป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์  นิยาม  หลักการ  หรือสูตร  ที่ผู้เรียนสรุปได้ว่าสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่  โดยการให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัด
               ข้อดีของวิธีสอนโดยการใช้อุปนัย คือ ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสังเกต ซึ่งจะค้นพบได้ด้วยตนเองและจะจดจำได้นาน ส่วนข้อจำกัดของการสอนวิธีนี้คือ ใช้ได้กับบางวิชาเท่านั้น และไม่เหมาะสำหรับเนื้อวิชาที่ยาก และครูต้องใช้เทคนิคการสอนอย่างดี การสอนจึงจะสัมฤทธิ์ผลและมีประสิทธิภาพ

คำถามและกิจกรรมท้ายบท
1. จงอธิบายความหมายของ วิธีสอนโดยใช้การอุปนัย  ตามความคิดเห็นของท่าน
2. วิธีสอนโดยใช้การอุปนัยมีจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่ออะไรบ้าง
3. องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนโดยใช้การอุปนัยจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง
4. หากท่านต้องใช้วิธีสอนโดยใช้การอุปนัย ท่านจะมีขั้นตอนในการสอนอย่างไร
5. ให้ท่านเสนอเทคนิคและข้อเสนอแนะของขั้นตอนวิธีสอนโดยใช้การอุปนัย มาพอ
    สังเขป
6. ท่านคิดว่า วิธีสอนโดยใช้การอุปนัยมีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง จงอธิบาย
7. หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ครูให้คัดเลือกวิธีสอน ท่านจะใช้วิธีสอนโดยใช้การอุปนัยหรือไม่ 
    เพราะเหตุใด
               8. ให้ท่านสังเกตการสอนและศึกษาการสอนโดยใช้การอุปนัยของครูที่มีความเชี่ยวชาญ  พร้อมทั้งบันทึกพฤติกรรมการสอนของครู  เพื่อไว้ใช้เป็นแบบอย่าง
              9. ให้ท่านทดลองฝึกสอนโดยใช้การอุปนัย แล้วให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำติชม หรืออาจบันทึกวีดีทัศน์ไว้วิเคราะห์การสอนของตนเองก็ได้



No comments:

Post a Comment